ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยมติรัฐมนตรีอาเซียนกำหนดให้วันที่ 15 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันไข้เลือดออกอาเซียน ให้ 10ประเทศสมาชิกจัดกิจกรรมรณรงค์ป้องกัน เริ่มปีนี้เป็นปีแรกภายใต้หัวข้อ “เก็บให้เกลี้ยงไม่เลี้ยงยุงลาย” ชูใช้มาตรการ 5 เก็บ ช่วยกำจัดไข่และลูกน้ำยุงลาย สถานการณ์ใน 10 ประเทศอาเซียนในปีที่ผ่านมายอดป่วยรวมเกือบ 2 แสนราย ส่วนไทยปีนี้พบผู้ป่วยแล้วกว่า 14,000 ราย เสียชีวิต 10 ราย

          วันนี้ (15 มิถุนายน 2554) ที่เอสพลานาด ถนนรัตนาธิเบศร์ จังหวัดนนทบุรี นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีเปิดงานวันไข้เลือดออกอาเซียน(ASEAN Dengue Day) พร้อมมอบรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวดตราสัญลักษณ์การรณรงค์โรคไข้เลือดออก และลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการป้องกันความคุมโรคไข้เลือดออก ระหว่าง กรุงเทพมหานคร กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมป้องกันโรคดียิ่งขึ้น
                           
          นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก รายงานทั่วโลกพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกปีละประมาณ 50 ล้านคน โดยผู้ป่วยประมาณ 38 ล้านคนหรือร้อยละ 75 ของผู้ป่วยทั้งหมดอยู่ในประเทศแถบอาเซียน เนื่องจากสภาพเป็นพื้นที่ในแถบร้อนชื้น เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของลูกน้ำยุงลาย   ในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนเมื่อเดือนกรกฎาคม 2553 ที่ผ่านมา ได้มีมติกำหนดให้วันที่ 15 มิถุนายน ของทุกปีเป็นวันไข้เลือดออกอาเซียน โดยให้ทุกประเทศสมาชิกอาเชียน 10 ประเทศ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนามและไทย จัดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันโรคไข้เลือดออกซึ่งเริ่มดำเนินการปีนี้เป็นปีแรกภายใต้หัวข้อ “เก็บให้เกลี้ยงไม่เลี้ยงยุงลาย(Big Cleaning Day)” โดยการรณรงค์ 5 เก็บ ได้แก่ 1.เก็บขยะ เศษภาชนะขังน้ำ 2.เก็บกวาดบ้านให้สะอาดปลอดโปร่ง 3.เก็บน้ำกินน้ำใช้ให้สะอาดมิดชิด 4.เก็บล้างภาชนะใส่น้ำ เพื่อขจัดไข่และลูกน้ำยุงลาย และ5.เก็บแล้วรวย โดยการเก็บวัสดุรีไซด์เคิลไปขายซึ่งจะต้องทำอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์
          สถานการณ์โรคไข้เลือดออกของ 10 ประเทศอาเซียนในปี 2552 มีรายงานผู้ป่วยกว่า 197,334 ราย ส่วนใหญ่เป็นเด็ก ในส่วนของไทย สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรครายงานผู้ป่วยตั้งแต่ 1 มกราคม 2554 - 7 มิถุนายน 2554  พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสม 14,526 ราย  ภาคกลางมีอัตราป่วยสูงสุด รองลงมาคือภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เสียชีวิตรวม 10 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือวัยเด็ก อายุ 10-14 ปี และ 5-9 ปี  นอกจากนี้มีแนวโน้มพบสูงขึ้นในกลุ่มอายุ 15-24 ปีด้วย
                            
                           
นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวต่อไปว่า ในการรณรงค์โรคไข้เลือดออกของประเทศไทย ปีนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ขยายเครือข่ายหน่วยงานร่วมจัดการปัญหากว้างขวางครอบคลุมพื้นที่เป้าหมายยิ่งขึ้นกับ 4 หน่วยงานได้แก่ กรุงเทพมหานคร กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงศึกษาธิการ   เพื่อพัฒนา ผลักดัน ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง กระตุ้นให้ทุกครอบครัวดูแลเอาใจใส่บ้านเรือน จัดการสิ่งแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้เข้าถึงกลุ่มเสี่ยงมากยิ่งขึ้น เช่นนักเรียน   และระดมนวัตกรรมท้องถิ่นในการกำจัดยุงตามวิถีชีวิตและภูมิปัญญาท้องถิ่น การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนนี้ จะสามารถจัดการกับปัญหาโรคไข้เลือดออกและโรคติดต่อนำโดยแมลงอื่นๆ ได้อย่างดี   
ทางด้าน นายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า  กล่าวว่า  โรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่ผันแปรตามฤดูกาล พบผู้ป่วยมากขึ้นในช่วงฤดูฝนตั้งแต่เดือนพฤษภาคม และพบสูงสุดประมาณเดือนกรกฎาคม ถึงเดือนสิงหาคม หลังจากนั้นจะเริ่มลดลงเรื่อยๆ กระทรวงสาธารณสุขได้วางมาตรการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกในพื้นที่ 3 มาตรการ ได้แก่ 1.เมื่อพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก ให้โรงพยาบาลรายงานหน่วยงานที่รับผิดชอบทันทีหรือภายใน 24 ชั่วโมง 2.หน่วยงานในพื้นที่ต้องดำเนินการสอบสวนและควบคุมโรคทันทีหรือภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากได้รับรายงานผู้ป่วย กำจัดลูกน้ำยุงลาย พ่นสารเคมีในบ้านผู้ป่วย และรอบบ้านผู้ป่วยในรัศมี 100 เมตร และพ่นซ้ำหลังจากรอบแรกภายใน 7 วัน  และ3.ให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกในชุมชน
  
นายแพทย์มานิตกล่าวต่อว่า ยุงลายตัวเมียเป็นต้นเหตุของโรคไข้เลือดออก   ยุงลายตัวเมีย 1 ตัว สามารถผลิตยุงรุ่นลูกได้ ราว 500 ตัว หลังถูกยุงลายที่มีเชื้อไข้เลือดออกกัดประมาณ 5-8 วัน จะเริ่มแสดงอาการป่วย   โดยเริ่มจากมีไข้สูงกระทันหัน ไข้จะสูงติดต่อกัน 2-7 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการหน้าแดง ปวดกระบอกตา ปวดศีรษะ ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและกระดูก คลื่นไส้ อาเจียน อาจมีผื่นหรือจุดแดงๆขึ้นที่ใต้ผิวหนัง   หลังจากนั้นไข้จะลง ผู้ป่วยส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 97 จะฟื้นตัวและหายเป็นปกติ โดยมีผู้ป่วยประมาณร้อยละ 3 จะเกิดอาการช็อค เนื่องจากมีเลือดออกในอวัยวะภายใน มีอาการซึม อ่อนเพลีย กระสับกระส่าย อาจเสียชีวิตได้ ยาลดไข้ที่ห้ามใช้และเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยที่สงสัยโรคไข้เลือดออก ได้แก่ ยาแอสไพริน ส่วนยาพาราเซตามอลสามารถใช้ได้
        .............................      15 มิถุนายน 2554


   
   


View 5       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ