โฆษกกระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชน หากมีไก่ที่เลี้ยงตาย ไม่ควรนำซากมาชำแหละเป็นอาหาร เพราะเสี่ยงติดเชื้อ ควรฝังกลบทำลาย เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่ระบาด การกินไก่ที่ปลอดภัยต้องกินสุกเท่านั้น ในช่วงนี้ขอให้หลีกเลี่ยงซื้อเนื้อไก่ที่ราคาถูกผิดปกติ หรือไก่ย้อมสีให้ดูเหมือนไก่สด รวมทั้งเนื้อไก่บดเนื่องจากไม่สามารถตรวจสอบความสดของไก่ได้ ชี้ยังไม่พบผู้ป่วยจากการกินไก่ นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับกรณีของการนำซากไก่มาชำแหละเป็นอาหารว่า เรื่องนี้จัดว่าเป็นความเสี่ยงอันตรายของคนที่อาจจะติดเชื้อโรคจากซากไก่ได้ หากไก่ตายผิดปกติ โดยเฉพาะโรคไข้หวัดนก วิธีที่ดีที่สุดเมื่อไก่ตาย ควรฝังกลบทำลาย ไม่ควรนำมาชำแหละขายเป็นอาหารคน หากจะนำไปเป็นอาหารสัตว์ ผู้ชำแหละต้องสวมอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อจากซากไก่ เช่นสวมเสื้อแขนยาว สวมถุงมือยาว รองเท้าบู้ท ขณะทำการชำแหละ หลังเสร็จภารกิจให้รีบอาบน้ำ ชำระร่างกายด้วยสบู่ ให้สะอาด และควรสระผมด้วย เพื่อชำระคราบเลือดที่กระเด็นใส่ และซักเสื้อผ้าที่สวมใส่ ให้สะอาด และผึ่งกลางแดดให้แห้งสนิทก่อนน้ำใช้ซ้ำอีก อย่างไรก็ตาม หลังจากมีข่าวว่าประชาชนไม่กล้าบริโภคเนื้อไก่ กระทรวงสาธารณสุขยืนยันว่าขณะนี้ไก่ในประเทศไทยรับประทานได้ แต่ต้องทำให้สุกก่อน เนื่องจากเชื้อโรคต่างๆที่อาจปนเปื้อนมา ไม่ว่าจะเป็นไวรัส แบคทีเรีย หรือพยาธิ จะถูกทำลายไปด้วยความร้อน การเลือกซื้อเนื้อไก่ดิบ ควรเลือกซื้อจากแผงที่ไว้ใจได้ เนื้อไก่ต้องแน่น ผิวตึง กดแล้วไม่บุ๋ม เนื้อมีสีสด ไม่ซีด หรือมีรอยจ้ำ หรือมีจุดเลือดออก ไม่มีแผลตามตัว ลูกตาไม่ลึกบุ๋ม ไม่มีกลิ่นเหม็น ไม่มีเมือกลื่น ไม่ควรซื้อไก่ที่ย้อมสีเช่นสีเหลืองขมิ้น หรือไก่ที่มีราคาถูกผิดสังเกตุ รวมทั้งในช่วงนี้ขอให้หลีกเลี่ยงการซื้อเนื้อไก่บด รวมทั้งเนื้อหมูผสมเนื้อไก่บด เนื่องจากไม่สามารถตรวจสอบเนื้อไก่ที่นำมาใช้ว่าเป็นเนื้อไก่สดหรือไม่ ที่สำคัญเนื้อที่บดเหล่านี้ ไม่สามารถล้างทำความสะอาดก่อนปรุงได้ ทางด้านนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้มอบหมายให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 จังหวัดนครราชสีมา ดำเนินการป้องกันควบคุมโรค ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา โดย1.ให้เฝ้าระวังผู้ป่วยอุจจาระร่วงหรืออาหารเป็นพิษจากการกินไก่ 2. เฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมที่อาจก่อให้เกิดแหล่งแพร่โรคเช่นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงวัน แหล่งน้ำเน่า 3. เตรียมทีมทำลายแหล่งเพาะพันธุ์แพร่โรคดังกล่าว จากการเฝ้าระวังในคนที่ผ่านมายังไม่พบผู้ป่วยจากการกินไก่ ส่วนการเฝ้าระวังทางสิ่งแวดล้อมยังไม่มีแหล่งใดที่จะแพร่โรค เนื่องจากขณะนี้ผู้ประกอบการได้ทำการฝังซากไก่เรียบร้อย แต่อย่างไรก็ตามได้จัดเตรียมทีมในการพ่นกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์แมลงวันไว้เรียบร้อยแล้ว **************************** 16 มิถุนายน 2554


   
   


View 12    16/06/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ