สาธารณสุข เตรียมพัฒนาโรงพยาบาลศูนย์ 11 แห่ง เป็นศูนย์เชี่ยวชาญระดับสูง 4 สาขา รักษาอุบัติเหตุฉุกเฉิน โรคหัวใจและหลอดเลือด ทารกแรกเกิด และโรคมะเร็ง ใช้เครื่องมือไฮเทคและแพทย์เฉพาะทางรักษาให้บริการประชาชนที่อยู่ภูมิภาคเป็นเครือข่าย ไฟเขียวผู้ป่วยใกล้ที่ไหนใช้บริการที่นั่น แต่ละแห่งดูแลประชากร 4-6 ล้านคน ไม่ต้องเดินทางเข้ากทม.
วันนี้(18 สิงหาคม 2554) ที่ โรงแรมเขาหลัก ซีวิว บีช รีสอร์ท แอนด์ สปา อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขพร้อมด้วย นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมวิชาการบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ใน 14 จังหวัดภาคใต้ รับทราบแผนเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อรองรับภัยพิบัติและการพัฒนาระบบสุขภาพในพื้นที่ภาคใต้ ได้แก่ นครศรีธรรมราช กระบี่ พังงา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานีระนอง ชุมพร สงขลา สตูล ตรัง พัทลุง ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
นายวิทยา กล่าวว่า ขณะนี้ภัยพิบัติและภาวะฉุกเฉิน ทั้งภัยจากธรรมชาติภัยที่มนุษย์ก่อขึ้น ภัยจากเทคโนโลยีและโรคระบาด มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้นทั่วโลก ทั้งในด้านความรุนแรง ความถี่ในการเกิด และขอบเขตพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ประกอบกับสภาพความเจริญของการคมนาคม ประชาชนมีการเดินทางมากขึ้นทั้งประกอบธุรกิจ และการท่องเที่ยว กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายเตรียมความพร้อมระบบบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อดูแลรองรับประชาชนที่เจ็บป่วยจากโรคทั่วๆไป ซึ่งมีโรงพยาบาลกระจายทั่วประเทศกว่า 10,000 แห่ง เพื่อให้เข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่สะดวกและมีคุณภาพ เช่น โรคที่ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงมีแพทย์เฉพาะทางรักษา รวมทั้งการพัฒนาระบบรองรับการเจ็บป่วยฉุกเฉิน สร้างความเชื่อมั่นทางด้านการแพทย์ ลดการเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้ประชาชนทุกคนได้รับบริการที่มีคุณภาพและทั่วถึง
นายวิทยา กล่าวต่อว่า ในการพัฒนาโรงพยาบาลที่ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงมีแพทย์เฉพาะทางรักษานั้น จะพัฒนาเพิ่มในส่วนของภูมิภาค ซึ่งประชาชนร้อยละ 80 อยู่อาศัย เพื่อให้เพียงพอ และมีโอกาสเข้าถึงบริการได้ง่ายขึ้น กระทรวงสาธารณสุขจัดทำแผนการลงทุนเพื่อพัฒนาโรงพยาบาลศูนย์/ โรงพยาบาลทั่วไป 11 แห่ง ให้เป็นศูนย์เชี่ยวชาญระดับสูง 4 สาขาหลัก ได้แก่สาขาอุบัติเหตุและฉุกเฉิน สาขาหัวใจและหลอดเลือด สาขาทารกแรกเกิด และสาขาโรคมะเร็ง ให้บริการผู้ป่วยเป็นเครือข่ายไร้รอยต่อ ผู้ป่วยอยู่ใกล้โรงพยาบาลใด ให้เข้ารับบริการที่นั่น ไม่ต้องคำนึงว่าเป็นการข้ามจังหวัด ไม่ต้องเดินทางเข้ากรุงเทพฯ แต่ละเครือข่ายจะดูแล 4-8 จังหวัด ครอบคลุมประชากร 4-6 ล้านคน ซึ่งจะได้นำแผนการพัฒนาดังกล่าว เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป
ส่วนบริการการแพทย์ฉุกเฉิน มีนโยบายพัฒนาครอบคลุมทั้งทางรถ ทางเรือ ทางอากาศ มีความคล่องตัวยิ่งขึ้น ขณะนี้ทั่วประเทศ มีชุดปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉิน 10,984 ชุดเจ้าหน้าที่ 122,945คน มีรถพยาบาลกู้ชีพ 14,189 คัน เรือ 1,128ลำ เครื่องบินและเฮลิปคอปเตอร์ 78ลำสามารถออกปฎิบัติการได้ในพื้นที่ปกติ พื้นที่สูงภูเขา เกาะแก่งต่างๆ ขอให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวมั่นใจ หากเจ็บป่วยฉุกเฉินหรือประสบอุบัติเหตุสามารถแจ้งเหตุทางโทรศัพท์หมายเลข 1669 ฟรีตลอด 24ชั่วโมง ผลการดำเนินการในปีที่ผ่านมาเป็นที่น่าพอใจ พบว่าประชาชนเข้าถึงบริการเพิ่มขึ้นจากปี 2550 ร้อยละ 30
ด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต กล่าวว่า โรงพยาบาลที่จะพัฒนาให้เป็นศูนย์เชี่ยวชาญ 4 สาขา และเป็น เครือข่ายบริการประชาชนในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง 11 แห่ง ในภาคกลาง มี 3 เครือข่ายคือสระบุรี ชลบุรี และราชบุรี ภาคใต้ มี 2 เครือข่ายคือสุราษฎร์ธานีและสงขลา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มี 4 เครือข่ายคืออุดรธานี ขอนแก่น อุบลราชธานีและนครราชสีมา ภาคเหนือ มี 2 เครือข่าย คือลำปางและพิษณุโลก
โดยในภาคใต้ซึ่งลักษณะเป็นพื้นที่ยาว ล้อมรอบด้วยทะเล 2 ด้าน จัดให้มี 2 เครือข่ายบริการ คือ 1.โรงพยาบาลศูนย์สุราษฎร์ธานี ดูแล 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน คือชุมพร ระนอง ภูเก็ต พังงา กระบี่ นครศรีธรรมราชและสุราษฎร์ธานี 2.โรงพยาบาลศูนย์หาดใหญ่ ดูแล 7 จังหวัดตอนล่าง คือพัทลุง ตรัง สตูล ปัตตานี ยะลา นราธิวาสและสงขลา
นอกจากนี้ จะพัฒนาโรงพยาบาลศูนย์ 6 แห่งในภาคใต้ ได้แก่วชิระภูเก็ต มหาราชนครศรีธรรมราช ชุมพร ตรัง ยะลา และนราธิวาสราชนครินทร์ รวมทั้งโรงพยาบาลทั่วไป 12 แห่ง ได้แก่ ระนอง เกาะสมุย พังงา ตะกั่วป่า กระบี่ ทุ่งสง พัทลุง สงขลา สตูลเบตง ปัตตานีและสุไหงโก-ลก เป็นโรงพยาบาลรักษาผู้ป่วยที่ต้องใช้แพทย์เฉพาะสาขาดูแล เน้นการดูแลผู้ป่วยในจังหวัด รวมทั้งรองรับการส่งต่อผู้ป่วยรองจากเครือข่ายรองจากศูนย์เชี่ยวชาญที่จังหวัดสุราษฎรธานีและสงขลา อีกด้วย
************************************************** 18 สิงหาคม 2554