รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยเตรียมออก 5 มาตรการลดนักสูบรายเก่า ป้องกันนักสูบหน้าใหม่ โดยจะปรับปรุงกฎหมายควบคุมการบริโภคยาสูบของไทย 2 ฉบับที่ใช้มา 19 ปี ให้ทันสมัยสอดคล้องกับกฎหมายควบคุมยาสูบโลก ส่วนที่เป็นปัญหาของไทยคือการห้ามโฆษณาและส่งเสริมการขายทางอินเทอร์เน็ต และการสนับสนุนกิจกรรมทางสังคมต่าง ๆ ของบริษัทบุหรี่
เช้าวันนี้ (25 สิงหาคม 2554) ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมวิชาการ“บุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ”ครั้งที่ 10 จัดโดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และองค์กรภาคีด้านการควบคุมการบริโภคยาสูบ ระหว่างวันที่ 25-26สิงหาคม 2554 มีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 600 คน ประเด็นหลักการประชุมครั้งนี้คือ การดำเนินการตามกรอบกฎหมายควบคุมยาสูบโลก เพื่อให้สังคมไทยไร้ควันบุหรี่ และให้กับบุคลากรแลกเปลี่ยนเรียนรู้เชื่อมโยงภาคีเครือข่าย ส่งเสริมการทำงานของประชาคม ผลักดันให้เกิดนโยบายสาธารณะ ซึ่งจะส่งผลต่อการควบคุมการบริโภคยาสูบของไทยในอนาคต
นายวิทยา กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทย ได้เร่งดำเนินการควบคุมการบริโภคยาสูบของคนไทย ให้เป็นไปตามกรอบอนุสัญญาควบคุมการบริโภคยาสูบโลกหรือกฎหมายควบคุมยาสูบโลก ขององค์การอนามัยโลก ( WHO Framework Convention on Tobacco Control: FCTC) ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 มีสมาชิกมากกว่า 170ประเทศ ร่วมลงนามในสนธิสัญญาดังกล่าว รวมทั้งประเทศไทยด้วย ซึ่งเป็นอนุสัญญาฉบับเดียวของโลกที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและใช้เป็นเครื่องมือในการสกัดกั้นไม่ให้ผลิตภัณฑ์ยาสูบแพร่ขยายวงออกไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งไปสู่ประเทศกำลังพัฒนา ลดการเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ และคุ้มครองประชากรโลกให้ปลอดภัยจากพิษภัยบุหรี่ ซึ่งมีสารพิษอันตรายต่อสุขภาพกว่า 4,000 ชนิดอยู่ในบุหรี่ที่เผาไหม้เพียง 1 มวน และมีสารก่อมะเร็ง 42 ชนิด
นายวิทยากล่าวต่อว่าผลการบังคับใช้พระราชบัญญัติ 2ฉบับ คือพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 และพระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่พ.ศ.2535 ของกระทรวงสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง ทำให้อัตราการสูบบุหรี่โดยรวมของประเทศไทยลดลงมาโดยตลอด แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่พบในการควบคุมการบริโภคยาสูบในปัจจุบันคือกฎหมายของไทยไม่ทันสมัย เนื่องจากใช้มานาน 19 ปี โดยเฉพาะเรื่องการห้ามโฆษณาและส่งเสริมการขายผ่านทางอินเทอร์เน็ตรวมถึงการห้ามการสนับสนุนกิจกรรมทางสังคมต่างๆของบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ ซึ่งถือเป็นการโฆษณาและส่งเสริมการขายทางอ้อม ดังนั้นการควบคุมการบริโภคยาสูบ จึงต้องอาศัยกฎหมายโลกเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วย และต้องเร่งดำเนินการเพิ่มความเข้มแข็งของกฎหมายไทยด้วย
แนวทางการดำเนินงานเพื่อควบคุมการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบในปี 2554 นี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดไว้ 5 ประการ เพื่อลดนักสูบรายเก่า ป้องกันนักสูบหน้าใหม่ ได้แก่ 1.ปรับปรุงกฎหมายคือพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบพ.ศ.2535และพระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 และประกาศต่างๆ ให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับกฎหมายโลก 2.เร่งรัดการบังคับใช้กฎหมายควบคุมการบริโภคยาสูบทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค 3.ให้ความรู้ เรื่องกฎหมายและการเฝ้าระวังการกระทำผิดกฎหมายควบคุมการบริโภคยาสูบแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้ประกอบการ สถานบริการ และประชาชนทั่วไป โดยเน้นหนักในสถานศึกษาและสถานบริการ 4.ผลักดันให้เกิดบริการเลิกบุหรี่ในสถานบริการสุขภาพทุกระดับ และ5.พัฒนาชุมชนปลอดเหล้าปลอดบุหรี่ให้ครอบคลุมในพื้นที่ทุกภาค
ทั้งนี้ ผลการสำรวจการบริโภคยาสูบในผู้ใหญ่ล่าสุด ในปี 2552 ประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป มีอัตราการสูบเฉลี่ยร้อยละ 21 หรือประมาณ 12 ล้าน 5 แสนคน เสียเงินซื้อบุหรี่สูบเดือนละ 576 บาท โดยเพศชายสูบร้อยละ 40 เพศหญิงสูบร้อยละ 2 และยังมีผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่แต่สูดดมสัมผัสควันบุหรี่ที่คนอื่นสูบ ซึ่งเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยจากโรคที่มีสาเหตุมาจากบุหรี่เช่น มะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น รัฐบาลต้องแบกรับค่าใช้จ่ายจำนวนมาก โดยสัมผัสที่ตลาดสดหรือตลาดนัดสูงถึงร้อยละ 54 ในบ้านร้อยละ 39 และสถานที่ทำงานร้อยละ 27
************************************************ 25 สิงหาคม 2554