“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 130 View
- อ่านต่อ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยต่างประเทศมีรายงานผู้ป่วยโรคมือเท้าปากเพิ่มขึ้น เตือนประชาชนไทยอย่าตื่นตระหนก เร่งรัดประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นป้องกันและควบคุมโรค ลดอัตราการป่วยและการเสียชีวิตของโรค เน้นใช้มาตรการกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ย้ำขณะนี้สถานการณ์ดีขึ้น การป่วยทุกภาคมีแนวโน้มลดลง
วันนี้ (30 สิงหาคม 2554) นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึง กรณีที่มีการระบาดของโรคมือเท้าปากในต่างประเทศว่า ในปีนี้มีรายงานผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ เช่น จีน ฮ่องกง เวียดนาม โดยเฉพาะเวียดนาม มีรายงานผู้ป่วยแล้ว 32,500 ราย เสียชีวิต 81 ราย ซึ่งสูงกว่าปีก่อนประมาณ 3 เท่า สำหรับประเทศไทยตั้งแต่ 1 มกราคม – 22 สิงหาคม 2554 พบผู้ป่วยแล้ว 8,405 ราย เสียชีวิต 4 ราย เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี การป่วยทุกภาคมีแนวโน้มลดลง จึงขอให้ประชาชนไทยอย่าตื่นตระหนก เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขไทยได้เตรียมมาตรการป้องกันและควบคุมโรคไว้อย่างเข้มแข็งแล้ว
นายต่อพงษ์ กล่าวต่อไปว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ประสานสั่งการ เร่งรัด การป้องกันและควบคุมโรคมือเท้าปากทั่วประเทศ โดยขอความร่วมมือจากหน่วยราชการและหน่วยงานภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระทรวงศึกษาธิการ และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และติดตามสถานการณ์ เพื่อประสานสนับสนุนการป้องกันและควบคุมโรคอย่างใกล้ชิด เพื่อลดการป่วยและเสียชีวิตจากโรคมือ เท้า ปากของเด็กในประเทศไทย ให้ได้ผลดีที่สุด ซึ่งขณะนี้สถานการณ์ดีขึ้นแล้ว และขอให้ประชาชนยึดหลักการป้องกันโรคคือกินร้อน ใช้ช้อนกลาง และล้างมือก่อนรับประทานอาหารและภายหลังสัมผัสสิ่งของต่างๆ หรือออกจากใช้ห้องน้ำ ซึ่งใช้ได้ผลดี และป้องกันโรคได้หลายโรคทั้งโรคมือเท้าปาก โรคระบบทางเดินอาหารอื่นๆ รวมทั้งไข้หวัดใหญ่
ด้าน นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรคมือเท้าปากในเด็ก เชื้อจะอยู่ในตุ่มใส ที่ขึ้นในปาก ในลำไส้ และออกมากับอุจจาระของผู้ป่วย สามารถติดต่อสู่ผู้อื่น โดยได้รับเชื้อเข้าไปทางปาก การติดต่อมักเกิดจากการอยู่คลุกคลีใกล้ชิดกัน หรือใช้ภาชนะเครื่องใช้ต่างๆ ร่วมกัน โดยเฉพาะเด็กในศูนย์เด็กเล็ก หรือโรงเรียนอนุบาล
อย่างไรก็ดี โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ดังนั้นวิธีการป้องกันควบคุมโรคที่สำคัญคือ การมีสุขอนามัยส่วนบุคคลที่ดี ใช้มาตรการ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ งดใช้ภาชนะและเครื่องใช้ส่วนตัวร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ จาน ชาม เป็นต้น ล้างมือให้สะอาด ก่อนเตรียมอาหารและรับประทานอาหาร และหลังการขับถ่าย และต้องหมั่นทำความสะอาดภาชนะ เครื่องใช้ ของเล่น อุปกรณ์ ที่เด็กอาจใช้ร่วมกัน ทั้งที่บ้าน สถานศึกษา และสถานที่สาธารณะ โดยใช้วิธีเช็ดหรือล้างด้วยสบู่หรือผงซักฟอกและน้ำให้สะอาด ในกรณีเมื่อพบผู้ป่วยจะต้องสอบสวนหาสาเหตุ ค้นหา ผู้สัมผัสโรคโดยเฉพาะเด็กเล็กอายุ ต่ำกว่า 5 ปี และเข้าควบคุมและป้องกันในแหล่งแพร่โรค รวมถึงแยกผู้ป่วยจากผู้อื่นอย่างน้อย 7 วัน