ได้แก่ผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ผู้พิการหรือผู้ที่ช่วยเหลือตนเองได้น้อย ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่จำเป็นต้องได้รับยาตามนัดป้องกันโรคกำเริบเพราะขาดยา กลุ่มหญิงมีครรภ์และเด็ก หากจำเป็นให้รับตัวนอนโรงพยาบาล ให้ปลอดภัยสูงสุด วันนี้(5 กันยายน 2554) ณ ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลโผงเผง อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ในพื้นที่ ที่ตำบลโผงเผง อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง โดยกระทรวงสาธารณสุข จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ชุดใหญ่ พร้อมยาเวชภัณฑ์รักษาโรค พร้อมมอบยาชุดน้ำท่วม 1,000 ชุด แจกถุงดำใส่ขยะสิ่งปฎิกูล 500 กิโลกรัม และให้กำลังใจอาสาสมัครสาธารณสุข(อสม.) ที่ออกดูแลช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วม นาย วิทยา กล่าวว่า พื้นที่ตำบลโผงเผง เป็นจุดที่อยู่นอกแนวกั้นน้ำและอยู่ตามแนวคลองโผงเผงที่เป็นสาขาของแม่น้ำ เจ้าพระยา ทำให้มีน้ำท่วมบ้านเรือนประชาชนสูง เฉลี่ย 1.5-2 เมตร โดยจังหวัดอ่างทองมีท่วมทั้งหมด 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง 6 ตำบล อ.ป่าโมก 3 ตำบล อ.ไชโย 7 ตำบล อ.วิเศษไชยชาญ 3 ตำบล รวมทั้งหมด 19 ตำบล 74 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,527 ครอบครัว รวม 4,848 คน โดยน้ำเริ่มท่วมตั้งแต่ 2 สิงหาคม 2554เป็นต้นมา ในการลดผลกระทบด้านการเจ็บป่วย กระทรวงสาธารณสุขได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอ่างทอง จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการทุกวัน รวม 92 ครั้ง พบผู้ป่วย 2,619 ราย ร้อยละ 50 เป็นโรคน้ำกัดเท้า รองลงมา ปวดศีรษะ ปวดท้อง ผื่นคัน ไม่มีเจ็บป่วยรุนแรง ด้านสุขภาพ หน่วยแพทย์ได้ตรวจสุขภาพจิตเบื้องต้น 25 ราย เครียดสูง 2 รายต้องติดตามดูแลเป็นพิเศษ ทั้งนี้ได้สั่งการให้ทุกจังหวัด จัดระบบบริการประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วม เน้นหนัก 4 กลุ่มที่ต้องดูแลพิเศษ ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ กลุ่มผู้พิการหรือผู้ที่ช่วยเหลือตนเองได้น้อย กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่จำเป็นต้องได้รับยาตามนัดป้องกันโรคกำเริบเพราะ ขาดยา กลุ่มหญิงมีครรภ์และเด็ก หากมีความจำเป็นให้รับตัวมานอนพักที่โรงพยาบาล เพื่อให้มีความปลอดภัยมากที่สุด นายวิทยากล่าวว่า เรื่องที่น่าห่วง ของบ้านเรือนที่อยู่ริมแม่น้ำ ใน ระยะเร่งด่วนปัญหาหนักจะอยู่ที่ห้องน้ำห้องส้วม จะใช้การไม่ได้แม้ว่าบ้านจะสูง 2 ชั้นก็ตาม ได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแจกจ่ายถุงพลาสติกดำ เพื่อใส่สิ่งปฏิกูล รวมทั้งอุจจาระ เพื่อไม่ให้น้ำสกปรก เสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาดได้ง่าย โดยเฉพาะตาแดง โรคอุจาระร่วง ซึ่งที่จังหวัดอ่างทอง แจกถุงดำไปแล้วเกือบ 800 กิโลกรัม และแจกคำแนะนำเกี่ยวกับโรคที่มากับน้ำท่วมไปแล้ว 1,500 ชุด ทางด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ผลการให้บริการผู้ประสบภัยทุกจังหวัดหลังน้ำท่วมนานกว่า 1 เดือน มีผู้เจ็บป่วยทางกายสะสม 76,712 ราย เช่นโรคน้ำกัดเท้า ไข้หวัด ผื่นคัน และพบผู้มีปัญหาสุขภาพจิต มีภาวะซึมเศร้า 1,191 ราย เสี่ยงฆ่าตัวตาย 173 ราย ต้องติดตามดูแลเป็นพิเศษ 225 ราย มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 61 ราย เกิดจากจมน้ำ 51 ราย ดินโคลนทับ 8 ราย ต้นไม้ล้มทับ 1 ราย ไฟดูด 1 ราย ได้รับรายงานถูกงูพิษกัด 8 ราย ที่ จ.นครสวรรค์ แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต ****5 กันยายน 2554


   
   


View 14    05/09/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ