ปลัด สธ. ติดตามการดูแลรักษา “พระ-ผู้แสวงบุญ” ในดินแดนพุทธภูมิ จัดส่งทีมแพทย์ 6 รุ่น รวม 60 คน
- สำนักสารนิเทศ
- 16 View
- อ่านต่อ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานความช่วยเหลือประเทศกัมพูชาปราบโรคมาลาเรียและไข้เฉียบพลัน รอบที่ 2 เป็นเวลา 5 ปี ตั้งแต่ 2555-2559 โดยกระทรวงสาธารณสุขไทยและกัมพูชา จะร่วมกันขยายพื้นที่ดำเนินงานครอบคลุมทุกหมู่บ้านในอ.โอชุม จ.รัตนคีรี และอ.เพชรลัดดา จ.มณฑลคีรี ซึ่งอยู่ติดชายแดนเวียดนาม และเพิ่มที่จังหวัดเกาะกง รวมทั้งพัฒนาระบบการส่งต่อผู้ป่วยเพื่อรักษาอย่างทันท่วงที โดยไทยจะสนับสนุนด้านวิชาการ ฝึกอบรมด้านการตรวจวินิจฉัย การรักษาและป้องกันควบคุมโรค
วันนี้ (23 กันยายน 2554) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังต้อนรับนายแพทย์แมม บุญเฮง ( Dr.Mam Bunheng) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขราชอาณาจักรกัมพูชา และคณะ ว่า ในวันนี้ได้ร่วมหารืออย่างไม่เป็นทางการ เกี่ยวกับความร่วมมือของประเทศไทยกับกัมพูชา ในการดำเนินงานโครงการพระราชทานความช่วยเหลือแก่ราชอาณาจักรกัมพูชาด้านสาธารณสุข เพื่อแก้ไขปัญหาโรคมาลาเรีย (Malaria) และไข้เฉียบพลัน (Acute febrile illness) ตามแนวชายแดนกัมพูชากับเวียดนาม ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ที่เริ่มโครงการรอบแรกเป็นเวลา 4 ปี ตั้งแต่พ.ศ.2551 และจะสิ้นสุดโครงการในวันที่ 30 กันยายน 2554 โดยฯพณฯ สมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีประเทศกัมพูชา ได้ขอพระราชทานพระมหากรุณาในการขยายเวลาโครงการต่อไปอีก 5 ปี เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และขยายพื้นที่ดำเนินการไปยังหมู่บ้านอื่นๆ ที่มีปัญหาด้วย
นายวิทยากล่าวต่อว่า ผลการดำเนินงานรอบแรก กระทรวงสาธารณสุขไทยโดยสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค ได้สนับสนุนกระทรวงสาธารณสุขกัมพูชา ทางด้านวิชาการโดยส่งผู้เชี่ยวชาญโรคมาลาเรียและด้านกีฎวิทยา ไปฝึกอบรมเจ้าหน้าที่กัมพูชา ทั้งเรื่องการตรวจวินิจฉัย การรักษา การเฝ้าระวังโรค การศึกษาวิจัยชนิดของยุงก้นปล่องซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรค เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคมาลาเรีย ดำเนินการ 2 จังหวัดๆละ 1 อำเภอ ที่อำเภอโอชุม จ.รัตนคีรี และอำเภอเพชรลัดดา จ.มณฑลคีรี ซึ่งอยู่ติดกับชายแดนเวียดนาม
สำหรับความร่วมมือรอบที่ 2 ตั้งแต่พ.ศ. 2555-2559 ทั้ง 2 ฝ่ายได้หารือกันได้ข้อสรุปว่าจะขยายพื้นที่ดำเนินการ 2 โรคดังกล่าว ให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้านในอำเภอเดิมของจังหวัดรัตนคีรี และมณฑลคีรี และจะดำเนินการเพิ่มในพื้นที่เกาะกงด้วย เน้นการสาธารณสุขแบบบูรณาการ โดยกระทรวงสาธารณสุขไทยจะดูแลส่งบุคลากรไปช่วยฝึกอบรมบุคลากรของกัมพูชาในเรื่องการวินิจฉัย การรักษา การเฝ้าระวังโรคมาลาเรียและไข้เฉียบพลัน พร้อมทั้งพัฒนาระบบการส่งต่อผู้ป่วย โดยขอสนับสนุนรถพยาบาลฉุกเฉินรับผู้ป่วย และพัฒนาให้สามารถส่งต่อผู้ป่วยรักษาข้ามแดนได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะมีการหารือในรายละเอียดต่อไป
สถานการณ์มาลาเรียของไทยปีนี้ ตั้งแต่มกราคม – 10 กันยายน 2554 พบผู้ป่วยทั้งหมด 20,786 ราย ในจำนวนนี้ร้อยละ 60 เป็นผู้ป่วยต่างชาติ จำนวน 12,530 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ติดชายแดนพม่า มากที่สุดที่ตาก 11,227 ราย รองลงมาได้แก่ กาญจนบุรี 2,467 ราย และแม่ฮ่องสอน 1,017 ราย ส่วนตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา พบผู้ป่วยที่จ.ศรีสะเกษ และที่จันทบุรี รวม 1,009 ราย ในจำนวนนี้เป็นต่างชาติ 210 ราย คิดเป็นร้อยละ 26 ส่วนสถานการณฺของโรคมาลาเรียในประเทศกัมพูชา องค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตก รายงานล่าสุดในปี 2552 พบผู้ป่วยโรคมาลาเรีย 64,595 ราย เป็นเชื้อชนิดฟาซิฟารัมซึ่งเป็นชนิดรุนแรงมากที่สุด 17,442 ราย เสียชีวิต 279 ราย โดยเริ่มพบปัญหาเชื้อดื้อยาสูงขึ้นประมาณร้อยละ 7-10
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขไทย ได้มีความร่วมมือด้านสาธารณสุขกับราชอาณาจักรกัมพูชามานาน อาทิ โครงการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมเชื้อมาลาเรียดื้อยา ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธิบิล-เมลินดา เกตระยะเวลา 2 ปี ตั้งแต่กลางปี 2552-2554 และได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนโลกด้านมาลาเรียให้ดำเนินงานและขยายพื้นที่เพื่อควบคุมไม่ให้เชื้อแพร่กระจาย ต่อไปอีก 5 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2554 - 2559 ความร่วมมือดังกล่าว จะช่วยให้การกำจัดโรคมาลาเรียได้ผลดี เนื่องจากยุงก้นปล่องไม่ต้องใช้พาสปอร์ตก็สามารถบินข้ามประเทศมากัดคนข้ามประเทศได้ หากมีระบบควบคุมทั้ง 2 ประเทศจะทำให้พาหะโรคนี้ลดลง จำนวนผู้ป่วยก็จะลดลงด้วย
************************************ 23 กันยายน 2554