รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยขณะนี้ปัญหาเครียดติด 1ใน 5 โรคของผู้ประสบภัย สาเหตุร้อยละ 80เกิดจากปรับตัวไม่ทัน พบมากในจุดที่ไม่เคยมีน้ำท่วมมาก่อน มั่นใจหากได้รับการดูแลช่วยเหลือด้านต่างๆอย่างทันท่วงที ทั้งเรื่องปัจจัยสี่ และด้านอื่นๆ อาการจะกลับคืนสู่สภาพปกติภายใน 6 เดือน    

          วันนี้(26 กันยายน 2554)นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข  และคณะ นำทีมจิตแพทย์นักจิตวิทยา จากโรงพยาบาลศรีธัญญา สถาบันกัลยาราชนครินทร์และศูนย์สุขภาพจิต จ.นนทบุรี นครสวรรค์ พิษณุโลก ลงพื้นที่ให้บริการเยียวยาด้านจิตใจ ให้กำลังใจผู้ประสบภัยน้ำท่วม ที่จ.ชัยนาท ซึ่งบ้านถูกน้ำท่วมสูง ต้องมาอาศัยบนถนนชั่วคราวประมาณ 300-400 คน โดยเยี่ยมที่จุดอพยพ ต.ตลุก บริเวณทางแยกจากถนนสายเอเชียประมาณ 1กม. จุดอพยพวัดบ้านหนอง  อ.สรรพยา และเยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านหนอง อำเภอสรรพยา   โดยได้นำ ถุงยังชีพ 500 ชุด คลอรีนหยดทิพย์ น้ำยาล้างจาน  น้ำดื่ม  จำนวนกว่า 1000 ชุด  ถุงดำ 400 กิโลกรัมไปมอบ  พร้อมกันนี้ยังได้ผัดหมี่อีกจำนวน 4 กล่องใหญ่  เพื่อแจกให้ประชาชนที่จุดอพยพด้วย   โดยที่จ.ชัยนาทมีพื้นที่ที่น้ำท่วมทั้ง 8 อำเภอ หนัก 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง สรรพยา วัดสิงห์ และมโนรมย์ ประชาชนได้รับความเสียหายประมาณ 20,000 ครอบครัว  รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบลถูกน้ำท่วม 10 แห่ง ต้องย้ายไปให้บริการที่บริเวณใกล้เคียง ขณะนี้ได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการประชาชนในจุดต่างๆทุกวัน ส่วนใหญ่เป็นโรคน้ำกัดเท้า ปวดศีรษะ ไข้หวัด ปวดเมื่อย
นายต่อพงษ์ กล่าวว่า ผลการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ของกระทรวงสาธารณสุขในภาพรวมทั้งหมด  มีประชาชนเจ็บป่วยกว่า 360,000 ราย ที่พบมาก 5 อันดับได้แก่ 1.โรคน้ำกัดเท้า 2. ไข้หวัด 3.ปวดเมื่อย 4. โรคผิวหนัง และ 5.โรคเครียด สำหรับ 4 โรคแรกนั้นเป็นโรคทางกายรักษาหายเร็ว แต่สำหรับโรคเครียด จากการประเมินสาเหตุ ส่วนใหญ่ร้อยละ 80 เกิดจากปรับตัวรับสถานการณ์ไม่ทันและมีการสูญเสียทรัพย์สิน โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่ไม่เคยมีน้ำท่วมมาก่อน จะมีปัญหามากกว่าพื้นที่เคยเผชิญน้ำท่วมมาก่อน เนื่องจากไม่มีประสบการณ์ ปัญหาเหล่านี้หากได้รับการช่วยเหลือทั้งเรื่องปัจจัยสี่ หรือด้านอื่นๆ อย่างทันท่วงที จะช่วยให้เกิดความมั่นใจ และอาการจะคลี่คลายสู่สภาวะปกติภายใน6 เดือน แต่หากไม่ได้รับการช่วยเหลือและต้องเผชิญทุกข์น้ำท่วมขังเป็นเวลานาน อาการจะกำเริบรุนแรงและพัฒนาไปสู่การเจ็บป่วยทางจิตได้ จึงได้ให้เจ้าหน้าที่ออกเยียวยาเพื่อคลายความกังวลอย่างต่อเนื่อง และให้กำลังใจเพื่อให้ก้าวผ่านสถานการณ์ไปได้ และไม่เกิดโรคทางจิตใจ  
โดยผลการตรวจคัดกรองพบผู้ที่มีความเครียดในระดับสูงรวม 1,451 ราย มีอาการซึมเศร้า 3,161 ราย เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย 375 ราย และต้องติดตามดูแลเป็นพิเศษ 530ราย วันนี้ได้นำทีมจิตแพทย์ นักจิตวิทยาจากโรงพยาบาลศรีธัญญา และสถาบันกัลยาราชนครินทร์ ออกให้การดูแล ที่อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชัยนาท โดยจะมีการตรวจประเมินสภาพจิตใจ และให้การดูแลอย่างต่อเนื่อง    
แม้ว่า จะยังไม่พบการระบาดโรคติดต่อจากน้ำท่วม อย่างไรก็ตาม ปัญหาน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน อาจทำให้ประชาชน ขาดแคลนน้ำสะอาดใช้ เสี่ยงต่อการเกิดโรคทางเดินอาหาร ที่สำคัญคือโรคอุจจาระร่วงและโรคผิวหนัง ได้ให้กรมอนามัย ดำเนินการเฝ้าระวังคุณภาพความสะอาดน้ำดื่ม น้ำใช้ เพื่อดูระดับคลอรีนเป็นไปตามมาตรฐาน และดูมาตรฐานอาหาร แจกคลอรีนชนิดน้ำและสารส้ม เพื่อให้ประชาชนทุกบ้านนำไปใช้ปรับปรุงสภาพน้ำ และฆ่าเชื้อโรคในน้ำ เพื่อให้ปลอดภัยมากขึ้น             
    *******************************************         26 กันยายน 2554


   
   


View 12    26/09/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ