รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ส่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ควบคุมโรคอาหารเป็นพิษ ที่วัดบ้านหนอง หมู่ 8 ต.ตลุก อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ล่าสุดยังมีผู้ป่วยนอนรักษาที่โรงพยาบาลชัยนาทนเรนทร 18 ราย เป็นผู้สูงอายุ และเด็ก ทุกรายปลอดภัย และสั่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดดูแลความปลอดภัยอาหาร น้ำดื่มแจกผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยเฉพาะที่จุดอพยพ จากเหตุการณ์ที่มีผู้ประสบภัยเกือบ 100 ราย ที่วัดบ้านหนอง หมู่ 8 ตำบลตลุก อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท เกิดโรคอาหารเป็นพิษ มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียหลังรับประทานอาหารกล่องบริจาค ซึ่งประกอบด้วย บะหมี่แห้ง ขนมจีน ข้าวกล่อง เหตุเกิดเมื่อเย็นวานนี้(1 ตุลาคม 2554) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า หลังได้รับรายงานได้ส่งทีมแพทย์ฉุกเฉินประมาณ 10 ทีมพร้อมเรือ เข้าไปให้การช่วยเหลือผู้ป่วย นำส่งโรงพยาบาลชัยนาทนเรนทร และสั่งให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ส่งหน่วยสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว ลงไปควบคุมโรคที่วัดบ้านหนองเป็นการด่วน พร้อมทั้งสั่งกำชับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่น้ำท่วมทุกแห่ง ควบคุมดูแลความปลอดภัย อาหาร น้ำดื่ม ผู้ประสบภัย โดยเฉพาะในจุดอพยพที่เป็นจุดเสี่ยงสำคัญ ที่คนอยู่รวมตัวกันจำนวนมาก และมีข้อจำกัดในเรื่องความเป็นอยู่ ทั้งน้ำดื่มสะอาด น้ำใช้ สุขา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเหล่านี้ ด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เหตุการณ์เมื่อวานนี้ นับเป็นการป่วยพร้อมกันครั้งแรกในช่วงน้ำท่วม มีผู้ป่วยทั้งหมด 99 ราย ส่วนใหญ่มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียประมาณ 3-5 ครั้งต่อราย ขณะนี้แพทย์รับตัวดูแลที่โรงพยาบาลชัยนาทนเรนทรทั้งหมด 18 ราย ส่วนใหญ่เป็นเด็กและผู้สูงอายุ ขณะนี้ปลอดภัยทุกราย จากการสอบสวนโรค ผู้ป่วยได้รับประทานบะหมี่แห้ง ขนมจีน และข้าวกล่อง แต่ส่วนใหญ่จะรับประทานบะหมี่แห้งหมูแดง ซึ่งมีผู้นำมาบริจาคประมาณ 10.30 น. เริ่มรับประทาน 12.00 น.บางรายเก็บไว้ถึงตอนเย็น เจ้าหน้าที่ได้เก็บตัวอย่างอาหารทั้ง 3 ชนิด รวมทั้งอุจาระผู้ป่วยทุกรายส่งตรวจที่โรงพยาบาลชัยนาทนเรนทร จะทราบผลในวันพรุ่งนี้ และเก็บเศษอาหารจากอาเจียนส่งพิสูจน์เชื้อที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์นครสวรรค์ ในวันนี้จะส่งหน่วยควบคุมโรคเคลื่อนที่เร็ว 2 ทีม ไปดำเนินการควบคุมโรคซ้ำอีกที่วัดบ้านหนอง และติดตามในหมู่บ้าน ล่าสุดยังไม่มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่ม โดยที่จ.ชัยนาทมีจุดอพยพทั้งหมด 7 จุด มีผู้อพยพจุดละกว่า 100 ครอบครัว มากสุดที่ อ.สรรพยา ส่วนใหญ่อยู่ริมถนน นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวต่อไปว่า ขอแนะนำผู้ที่ประสงค์จะบริจาคอาหารให้ผู้ประสบภัยให้หลีกเลี่ยง อาหารที่บูด เสียง่าย เช่น มีกะทิ อาหารประเภทยำ ควรเป็นอาหารปรุงสุกใหม่ ควรรับประทานภายใน 4 ชั่วโมง ส่วนผู้ประสบภัยไม่ควรเก็บอาหารไว้นานๆ ข้ามมื้ออาหาร ควรสังเกตอาหารก่อนรับประทานว่าบูดหรือไม่ หากเป็นไปได้ควรอุ่นให้ร้อนก่อน กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบแล้ว .........................2 ตุลาคม 2554


   
   


View 15    02/10/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ