รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยผลการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการผู้ประสบภัยในพื้นที่น้ำท่วม พบประชาชนเจ็บป่วยแล้วกว่า 4 แสนราย โรคน้ำกัดเท้ามากอันดับหนึ่ง รองลงมาคือไข้หวัด กำชับทุกจังหวัดเร่งจัดการขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล ป้องกันโรคระบาด และลดน้ำเน่าเสีย วันนี้ ( 2 ตุลาคม 2554 ) นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เดินทางไปตรวจเยี่ยมการดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและมอบยาสามัญประจำบ้าน โดยไปที่อบต.นาข่า อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย และที่อบต.ซุ่มเส้า อ.เพ็ญ และที่สมาคมไร่อ้อย อ.กุมภาวาปี จ.อุดรธานี จากนั้นร่วมประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี หนองคาย และสกลนคร และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อบูรณาการแก้ไขปัญหาภัยธรรมชาติร่วมกัน นายต่อพงษ์กล่าวว่า จากการตรวจเยี่ยมพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม สิ่งที่เป็นห่วงคือเรื่องขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูลต่างๆ พบว่ามีจำนวนมาก ซึ่งจะเพิ่มความสกปรกน้ำท่วม ทำให้น้ำเน่าเสียเร็วขึ้น อาจก่อให้เกิดโรคระบาดตามมา เช่นโรคตาแดง โรคอุจจาระร่วง ตามมา ทำให้ยากต่อการควบคุม ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและกรมอนามัย เร่งดำเนินการแก้ไข ร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น โดยแจกถุงดำให้ประชาชนใส่ขยะให้เพียงพอในแต่ละครอบครัว และจัดที่รองรับขยะเพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของสัตว์นำโรค โดยเฉพาะหนูและแมลงวัน นายต่อพงษ์กล่าวต่อว่า สถานการณ์น้ำท่วมจนถึงวันนี้ ยังมีพื้นที่ประสบภัย 23 จังหวัด ประกอบด้วยภาคเหนือ 6 จังหวัด ภาคกลาง 13 จังหวัด และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 จังหวัด กระทรวงสาธารณสุขได้ส่งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการตรวจรักษาฟรีอย่างต่อเนื่อง จนถึงวันนี้ออกไปแล้ว 3,186 ครั้ง มีผู้เจ็บป่วย 4 แสนกว่าราย ส่วนใหญ่เป็นโรคน้ำกัดเท้า เพราะต้องเดินลุยน้ำทุกวัน รองลงมาคือไข้หวัด ไม่มีรายใดอาการรุนแรง โดยศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขน้ำท่วมของกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดส่งยารักษาโรคเบื้องต้น ลงพื้นที่แจกให้ผู้ประสบภัยทุกครัวเรือน รวมเกือบ 1 ล้าน 4 แสนชุด วันนี้ส่งเพิ่มอีก 41,000ชุด ให้ 4 จังหวัด ได้แก่ลพบุรี 10,000 ชุด พระนครศรีอยุธยา 20,000 ชุด ฉะเชิงเทรา 6,000 ชุด และร้อยเอ็ด 5,000 ชุด และสำรองยาไว้ที่ส่วนกลางอีก 5 แสนชุด พร้อมสนับสนุนให้จังหวัดทันที นายต่อพงษ์กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับผลกระทบทางสุขภาพจิต ผลการตรวจประเมินสุขภาพจิตล่าสุด พบผู้ที่มีความเครียด สูง 1,520 ราย มีอาการซึมเศร้า 3,239 ราย มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย 389 ราย และต้องติดตามดูแลใกล้ชิดเป็นพิเศษ 554 ราย โดยกระทรวงสาธารณสุขได้จัดระบบการดูแล 3 รูปแบบคือ1.จัดทีมสุขภาพจิต ร่วมออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่รักษาโรคทางกาย ขณะนี้กระจายบริการตามจุดอพยพประชาชนที่บ้านถูกน้ำท่วมหนักจนอยู่ไม่ได้ 2.หน่วยแพทย์เคลื่อนที่บริการตามหมู่บ้าน และ 3.ทีมเยี่ยมบ้านชนิดเคาะประตูบ้าน เยี่ยมดูอาการผู้ที่เสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพจิตง่ายเช่นผู้ป่วยจิตเวช ผู้สูงอายุที่ไม่มีคนดูแล ผู้ป่วยโรคประจำตัว และมีสายด่วนเปิดให้บริการปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง ทางหมายเลข 1323 ฟรี ************************************ 2 ตุลาคม 2554


   
   


View 13    02/10/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ