วันนี้ (12 ตุลาคม 2554) นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์หลังประชุมผู้บริหารและประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดที่ถูกน้ำท่วมว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ปรับยุทธศาสตร์ในการจัดการแก้ไขปัญหาพื้นที่น้ำท่วมให้เกิดประสิทธิภาพเข้มข้นมากขึ้น โดยให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเป็นผู้สั่งการทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขแต่ละจังหวัด  ให้ผู้ตรวจราชการเป็นผู้ให้คำปรึกษาแนะนำประสานข้ามจังหวัด       และมีรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข 4 คน เป็นผู้ติดตามการดำเนินงานและประสาน กรมวิชาการ  ส่วนวอร์รูมใหญ่ของกระทรวงสาธารณสุข  จะสนับสนุนเวชภัณฑ์ เสื้อชูชีพ เครื่องกรองน้ำ เตียงสนาม เรือ และยานพาหนะ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญ เพื่อใช้ในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือประชาชน

          ขณะนี้ได้แบ่งสถานการณ์น้ำท่วมออกเป็น 3 กลุ่มได้แก่ 1.กลุ่มสถานการณ์รุนแรง 2.กลุ่มที่ผ่านระยะรุนแรงเข้าสู่ระยะฟื้นฟู     และ 3.กลุ่มที่ยังไม่เกิดสถานการณ์ เช่น โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า โรงพยาบาลปทุมธานี ซึ่งจะต้องมีการเตรียมความพร้อมและการป้องกันไว้  แต่ละกลุ่มจังหวัดจะต้องมีแผนปฏิบัติการ และมีกรมวิชาการต่าง ๆ เข้ามาช่วยในภารกิจต่างๆ โดยประสานกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ซึ่งเป็นผู้สั่งการของแต่ละจังหวัด

นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อไปว่า  สำหรับเรื่องโรคระบาด ในขณะนี้ต้องเฝ้าระวังในเรื่องสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม คือเรื่องขยะ สิ่งขับถ่าย  จากการที่เข้าไปดูแลที่จุดอพยพอนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งค่อนข้างจะเป็นปัญหา เนื่องจากมีประชาชนมีอาศัยอยู่รวมกันจำนวนมาก ซึ่งในวันนี้ได้ให้กรมอนามัยสร้างส้วมสนาม ส้วมลอยน้ำให้ประชาชน และดูแลเรื่องน้ำดื่ม ป้องกันไม่ให้เกิดโรคระบาด

ทั้งนี้โรคระบาดที่มากับน้ำท่วมต้องเฝ้าระวัง 5 โรคหลัก ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง โรคฉี่หนู ไข้หวัด ตาแดง และไข้เลือดออก ส่วนโรคที่ป่วยกันมากคือโรคน้ำกัดเท้า  ขอให้ประชาชนดูแลอย่าให้มีบาดแผลที่เท้า และให้ล้างเท้าให้สะอาดหลังจากลุยน้ำแล้วทุกครั้ง

นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า สำหรับการให้บริการผู้ป่วย กระทรวงสาธารณสุขได้ระดมทีมแพทย์จากจังหวัดที่น้ำไม่ท่วม เช่นจังหวัดชลบุรี ราชบุรี ชัยภูมิ นครราชสีมา สุราษฎรธานี ภูเก็ต   เป็นต้น ร่วมออกให้บริการประชาชนในจังหวัดที่น้ำท่วม  พร้อมกับยกระดับโรงพยาบาลบางปะอิน เป็นโรงพยาบาลทั่วไปให้สามารถผ่าตัดได้ เนื่องจากขณะนี้โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยายังเปิดบริการไม่ได้  โดยใช้ทีมแพทย์จากโรงพยาบาลชลบุรี  ส่วนที่ปทุมธานี ขณะนี้โรงพยาบาลปทุมธานีได้ย้ายผู้ป่วยหนัก 31 ราย เริ่มตั้งแต่วานนี้ เข้ามาโรงพยาบาลในกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง และดูแลผู้ป่วยที่เหลือต่อ

ทางด้านนายแพทย์สมยศ  ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า  จากการสำรวจจุดอพยพต่างๆส่วนใหญ่ไม่มีปัญหา มีแห่งเดียวที่น่าห่วงและถือว่าวิกฤติ คือที่อนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวร  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีประชาชนเข้าไปพักอาศัยประมาณ 3,000 คน  การเดินทางเข้าออกยากลำบากมาก และมีปัญหาเรื่อง ส้วม น้ำสะอาดไม่เพียงพอ เสี่ยงเกิดโรคระบาดได้ง่าย โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินอาหาร  ได้เร่งป้องกัน โดยดูแลความสะอาดสุขาภิบาล  น้ำดื่มน้ำใช้  การกำจัดขยะสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ  กรมอนามัยจะส่งส้วมลอยน้ำไปตั้งบริการ 10  ที่ คาดว่าวันนี้ จะตั้งได้ 2 ที่  จัดทำส้วมสนามชั่วคราว 20 ที่   ส่งส้วมเก้าอี้พลาสติกเจาะรูตรงกลางใส่ถุงดำรองรับ ใช้สำหรับรายบุคคลให้ครัวเรือนอีก 100 ที่    และส่งชุดนายสะอาดใช้ประจำครัวเรือน  1,500 ชุด  ซึ่งจะมีถุงดำใส่ขยะ ใสสิ่งปฏิกูล  สบู่  น้ำยาล้างจาน และสารส้ม คลอรีนสำหรับปรับสภาพน้ำให้สะอาด ปลอดภัยต่อการใช้ยิ่งขึ้น            

  ...............................    12 ตุลาคม 2554



   
   


View 9    12/10/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ