ปลัดกระทรวงสาธารณสุข สั่งวอร์รูมน้ำท่วมกระทรวงสาธารณสุข ปรับแผนในการจัดบริการรักษาพยาบาลให้เพียงพอ และส่งหน่วยเคลื่อนที่จาก อย. และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ดูแลความปลอดภัยอาหารและน้ำดื่ม  ผู้ประสบภัย ป้องกันควบคุมไม่ให้เกิดโรคระบาดในพื้นที่น้ำท่วม

นายแพทย์ไพจิตร์  วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาสาธารณภัย ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ที่กระทรวงสาธารณสุข ว่า ขณะนี้พื้นที่น้ำท่วม มีบางจุดที่สถานการณ์เปลี่ยน เช่นบางแห่งเข้าสู่ภาวะที่น้ำนิ่ง หรือน้ำเริ่มลด ปัญหาที่พบ เมื่อประชาชนไปอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก จะต้องป้องกันไม่ให้เกิดโรคระบาด โดยต้องดูแลเรื่องสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม และส่งทีมจิตแพทย์เข้าไปดูแลสุขภาพจิต  ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก  ในวันนี้จึงได้ทบทวนหลักการรองรับสถานการณ์น้ำท่วม    โดยวอร์รูมกลางที่กระทรวงสาธารณสุขจะร่วมกับพื้นที่ ในการปรับการจัดบริการทางการแพทย์ในจุดอพยพ และโรงพยาบาลสนาม และมอบหมายกรมที่เกี่ยวข้อง จัดการสนับสนุนแต่ละจุดได้อย่างเหมาะสม ทั้งจำนวนโรงพยาบาลสนาม จำนวนแพทย์พยาบาลให้เพียงพอต่อการรับผู้ป่วย  การดูแลสิ่งแวดล้อม ดูแลสุขาภิบาลอาหารและน้ำของผู้อพยพ เพื่อป้องกันโรคระบาด

   

  

ที่อยุธยามีการปรุงอาหารร้อนที่จุดอพยพ ซึ่งจะปลอดภัยจากเชื้อโรค เพราะปรุงสุกใหม่ๆ ส่วนที่น่าห่วงคืออาหารที่มีผู้ใจบุญจัดส่งมาช่วย ซึ่งขณะนี้การเดินทางลำบาก ใช้เวลาขนส่ง 4-5 ชั่วโมง หากไม่มีการแยกกับออกจากข้าว อาจทำให้บูดเสียไม่ปลอดภัยในการรับประทาน ได้ให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จัดหน่วยเคลื่อนที่อาหารปลอดภัย ดูแลเฝ้าระวังเรื่องอาหาร น้ำดื่ม นายแพทย์ไพจิตร์กล่าว

          นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมามีโรงพยาบาลศูนย์ของกระทรวงสาธารณสุข 2 แห่งถูกน้ำท่วม  ได้แก่ โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา และโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ ขณะนี้ได้เตรียมโรงพยาบาลปทุมธานี และโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี รองรับสถานการณ์ซึ่งพบว่าเป็นรูปแบบที่พอใจ โดยขณะนี้โรงพยาบาลปทุมธานี ได้ขนย้ายผู้ป่วยหนักออกแล้ว เหลือผู้ป่วยอาการไม่หนัก 100 กว่าราย  ซึ่งมีอาหาร น้ำ ไฟฟ้า สามารถให้การดูแลได้ ส่วนโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ได้ย้ายผู้ป่วยหนักไปที่โรงพยาบาลบำราศนราดูรเช่นกัน  ส่วนโรงพยาบาลชุมชน สามารถดำเนินการได้ทุกแห่ง มีบางแห่งเช่นที่บางปะหัน ประชาชนเดินทางไปรับบริการไม่สะดวก ก็ได้ย้ายออกมาให้บริการนอกโรงพยาบาล ส่วนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ส่วนใหญ่ให้บริการที่ชั้น 2 มีเพียง 1-2 แห่งที่น้ำท่วมทั้ง 2 ชั้น ได้ให้ย้ายออกมาตั้งหน่วยบริการร่วมกับโรงพยาบาลชุมชน

          นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อไปว่า ผู้รับบริการกับหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ขณะนี้ ส่วนใหญ่จะเจ็บป่วยเล็กน้อย เช่นมีบาดแผลเล็กๆน้อยๆ เช่นเหยียบตะปู เศษแก้วที่อยู่ในน้ำ เป็นไข้หวัด แมลงสัตว์มีพิษกัดต่อย และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ที่ขาดยา ยังไม่พบโรคระบาด พบการเจ็บป่วยประปราย โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินอาหาร อย่างไรก็ตาม ได้ให้เฝ้าระวังโรคระบาดอื่นๆเช่นฉี่หนู โดยให้เฝ้าระวังจับสัญญาณโรคให้รวดเร็ว 

 *************************************  14 ตุลาคม 2554



   
   


View 9    14/10/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ