กระทรวงสาธารณสุข เฝ้าระวังป้องกันโรคติดต่อในศูนย์อพยพและจุดพักพิงทุกแห่งอย่างต่อเนื่อง โดยดำเนินการ 3 ขั้นตอน คือการเฝ้าระวังการเจ็บป่วยของประชาชนที่รักษาในหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ หรือโรงพยาบาลสนาม โดยเฉพาะการป่วยอาการเดียวกันเกิดไล่เลี่ยกัน การประเมินความเสี่ยงการเกิดโรคจากสภาพความเป็นอยู่   และการสุ่มตรวจวิเคราะห์คุณภาพอาหารและน้ำดื่ม

          นายวิทยา  บุรณศิริ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพผู้ประสบภัยน้ำท่วมว่า  สิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขเป็นห่วงและเร่งดำเนินการทุกวิถีทางก็คือการป้องกันไม่ให้เกิดโรคระบาดซ้ำเติมทุกข์ให้ผู้ประสบภัย โดยเฉพาะในจุดมีประชาชนอาศัยอยู่รวมกันจำนวนมากเช่นจุดพักพิงและจุดอพยพ ซึ่งขณะนี้มีประมาณ 113 แห่ง ในจังหวัดลพบุรี พระนครศรีอยุธยา นครสวรรค์  นนทบุรี ปทุมธานี ได้สั่งการให้กรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมอนามัย มีการเฝ้าระวังและป้องกันอย่างเข้มข้นร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ซึ่งขณะนี้ได้รับรายงานเริ่มพบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงประปรายหลายจังหวัด  พบผู้ป่วยอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ประมาณ 150 ราย  แต่ยังไม่มีการแพร่ระบาดในวงกว้าง   

                 

                 

                 

ทางด้าน นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต  ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในการเฝ้าระวังป้องกันโรคในจุดอพยพ  จุดพักพิง  กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการ 3  ขั้นตอน  ได้แก่ 1.การส่งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่หรือตั้งเป็นโรงพยาบาลสนามประจำการ เพื่อตรวจรักษาผู้เจ็บป่วย และเป็นหน่วยเฝ้าระวังโรคติดต่อด้วยโดยเฉพาะในกรณีที่พบผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อนหรือป่วยด้วยอาการคล้าย ๆ กันในเวลาไล่เลี่ยกัน เพื่อให้สามารถจับสัญญาณการแพร่ระบาดได้อย่างทันท่วงที   

2.ให้เจ้าหน้าที่ด้านระบาดวิทยา และกรมอนามัย ประเมินความเสี่ยงทั้งเรื่องอาหารการกิน น้ำดื่ม น้ำใช้ ส้วม การกำจัดขยะเปียก และยุงนำโรคทุกวัน หากพบว่าจุดใดมีความเสี่ยงให้เร่งแก้ไขปรับปรุงให้ถูกสุขลักษณะทันที  และ3.ให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ดำเนินการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำดื่มและอาหาร ภายในจุดอพยพและที่โรงพยาบาลสนาม รวมทั้งเฝ้าระวังในพื้นที่น้ำท่วมทั่วๆไปด้วย 

นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า โรคที่ต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดในจุดพักพิง จุดอพยพ ในระยะนี้ มี 9 โรคได้แก่  โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน โรคอาหารเป็นพิษ อาการถ่ายเป็นมูกเลือด อาการที่สงสัยป่วยโรคฉี่หนู อาการที่สงสัยป่วยเป็นไข้เลือดออก โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างอย่างเฉียบพลัน โรคตาแดง ไข้หวัดใหญ่ โรคมือเท้าปากในเด็ก รวมทั้งการป่วยที่พบผู้ป่วยอาการเดียวกันหรืออาการคล้ายกัน เกิดในเวลาไล่เลี่ยกัน

 **************************     18  ตุลาคม 2554

 

 



   
   


View 9    18/10/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ