วันนี้ (19 ตุลาคม 2554) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมผู้บริหารและนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วม ผ่านทางระบบวิดีโอว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงสาธารณสุขประเมินสถานการณ์น้ำท่วมร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) โดยได้เตรียมความพร้อมด้านบริการทางการแพทย์ไว้ตั้งแต่แรก 100 เปอร์เซ็นต์ แต่คาดการณ์ว่าใช้การได้จริงประมาณร้อยละ 70 ซึ่งถือว่ามีความพร้อมดีที่สุด ทั้งเรื่องการรักษาพยาบาล ระบบส่งต่อ การอพยพผู้ป่วย เนื่องจากมีปัจจัยเกี่ยวกับเส้นทางการจราจร ระดับน้ำ และประชาชน ทำให้การปฏิบัติงานทำได้ไม่เต็มที่ แต่ได้ให้วิเคราะห์และวางแผนเตรียมแก้สถานการณ์ไว้เรียบร้อยแล้ว เพื่อให้การบริการกลับมาใกล้เคียง 100 เปอร์เซ็นต์มากที่สุด

          สำหรับศูนย์อพยพที่แต่ละจังหวัดได้เตรียมไว้  เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต้องแจ้งมายังกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  เพื่อเข้าไปดูแล โดยกระทรวงพัฒนาสังคมฯ มีหน้าที่ดูแลเรื่องที่นอน อาหาร ส่วนกระทรวงสาธารณสุขดูแลด้านรักษาพยาบาล ยารักษาโรค อนามัยสิ่งแวดล้อม การป้องกันควบคุมโรค และด้านสุขภาพจิต ซึ่งได้เตรียมแผนรองรับไว้เรียบร้อยแล้ว โดยมีทีมแพทย์จากโรงพยาบาลและจังหวัดใกล้เคียงที่ไม่ได้รับผลกระทบ เช่น อุดรธานี อุบลราชธานี ภูเก็ต ระดมบุคลากรที่มีอยู่มาช่วยปฏิบัติงาน ซึ่งอยู่ในยุทธศาสตร์ 9 ข้อที่กระทรวงสาธารณสุขวางไว้

          นายวิทยากล่าวต่อว่า การที่ประชาชนอพยพมาอยู่ที่ศูนย์อพยพนั้น กระทรวงสาธารณสุขสามารถให้การดูแลได้ดีกว่าประชาชนที่ยังอาศัยอยู่ในบ้านซึ่งอาจขาดน้ำ ไฟ เครื่องอุปโภค บริโภค โดยดูแลทั้งด้านอาหาร น้ำดื่ม การจัดการสิ่งแวดล้อม ส้วม ขยะ เพื่อเฝ้าระวังโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้น เช่น ท้องเสีย ตาแดง ไข้หวัด หรือหากเจ็บป่วยจะมีทีมแพทย์ให้การดูแลรักษาและส่งต่อไปรับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ได้เสนอแผนดำเนินการที่ศปภ.แล้ว

          นายวิทยากล่าวต่อไปว่า สำหรับการเตรียมพร้อมหากเกิดน้ำท่วมในเขต กทม.ได้เตรียมความพร้อมไว้ คือ เตรียมสำรองเตียงผู้ป่วยของโรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลทหารทั้ง 3 เหล่าทัพและตำรวจ โรงพยาบาลสังกัด กทม. และโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สำรองไว้ร้อยละ 5 ของจำนวนเตียงที่มีทั้งหมด รวมประมาณกว่า 1,000 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยจากโรงพยาบาลที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมนอกเขต กทม.และหากโรงพยาบาลในเขตกทม.น้ำท่วม จะส่งผู้ป่วยกลับไปโรงพยาบาลในส่วนภูมิภาคที่สามารถเปิดให้บริการได้ ทั้งนี้ ได้เร่งกู้โรงพยาบาลทั้งหมดที่ได้รับผลกระทบให้สามารถกลับมาเปิดให้บริการได้โดยเร็วที่สุด

  *******************************   19 ตุลาคม 2554



   
   


View 9    19/10/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ