กระทรวงสาธารณสุข ให้ทุกจังหวัดน้ำท่วม เร่งเฝ้าระวังป้องกันโรคระบาดที่ตามมากับน้ำท่วมอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคฉี่หนู ได้จัดส่งชุดทดสอบเชื้อภาคสนาม จำนวน 20,700 ชุด ให้จังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วมใช้ทดสอบในผู้ป่วยที่มีอาการน่าสงสัย รู้ผลใน 15 นาที ช่วยแพทย์วินิจฉัย รักษาถูกต้อง ป้องกันการเสียชีวิต นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังลงพื้นที่พร้อมด้วยนายแพทย์บุญชัย สมบูรณ์สุข อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และคณะ เพื่อเยี่ยมผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่เทศบาลนครอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี และที่ว่าการอำเภอเมือง จ.ศรีสะเกษ โดยมอบยาสามัญประจำบ้าน เครื่องใช้จำเป็นให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วม เมื่อเช้าวันนี้(5 พฤศจิกายน 2554)ว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข เฝ้าระวังโรคระบาดที่มากับน้ำท่วมและหลังน้ำลดอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะโรคเลปโตสไปโรสิส(Leptospirosis)หรือโรคฉี่หนู เนื่องจากเชื้อโรคนี้ สามารถเจริญเติบโตและมีชีวิตอยู่ได้ในแหล่งน้ำท่วมได้ไม่น้อยกว่า 3 สัปดาห์ คนที่เคยป่วยแล้วมีโอกาสป่วยซ้ำได้อีก โดยเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผลหรือรอยขีดข่วนผิวหนัง หรืออาจเข้าทางตา จมูกและปาก หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง จะมีโอกาสเสียชีวิตได้สูง นายต่อพงษ์กล่าวต่อว่า ในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคฉี่หนู กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ผลิตชุดทดสอบโรคฉี่หนูภาคสนามอย่างง่าย และได้จัดส่งให้พื้นที่น้ำท่วมทุกจังหวัดจำนวน 20,700 ชุด เพื่อใช้ตรวจวินิจฉัยเบื้องต้นในรายที่พบผู้ป่วยที่มีอาการน่าสงสัย การตรวจมีขั้นตอนใช้ง่าย ไม่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ รู้ผลภายใน 15 นาที สามารถอ่านผลได้ด้วยตาเปล่า ให้ผลแม่นยำ 100 เปอร์เซ็นต์ ช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้เร็วและถูกต้อง สามารถรักษาได้ทันท่วงที ป้องกันผู้ป่วยเสียชีวิตได้ โดยในเดือนตุลาคม 2554 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ตรวจตัวอย่างผู้ป่วยที่สงสัยโรคฉี่หนูจำนวน 20 ตัวอย่าง พบเป็นโรคฉี่หนู 1 รายที่ จ.ขอนแก่น โดยชุดทดสอบโรคฉี่หนู 1 ชุด สามารถตรวจผู้ป่วยได้ 25 ราย โดยชุดทดสอบนี้เป็นนวัตกรรมของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพิ่มประสิทธิภาพการรักษาโรคฉี่หนูของทีมแพทย์ไทย ลดการเสียชีวิตของผู้ป่วยจากโรคฉี่หนูได้ ทางด้านนายแพทย์บุญชัย สมบูรณ์สุข อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เฝ้าระวังความปลอดภัยอาหารและน้ำดื่มในพื้นที่น้ำท่วม ตั้งแต่ 6 ตุลาคม-4 พฤศจิกายน 2554 ได้เก็บตัวอย่างอาหาร 45 ตัวอย่างในจังหวัดปทุมธานี นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา และกรุงเทพมหานคร ผลตรวจพบอาหารมีการปนเปื้อนเชื้ออุจจาระร่วง 17 ตัวอย่างคิดเป็นร้อยละ 38 และสุ่มตรวจตัวอย่างน้ำดื่ม น้ำใช้ และน้ำแข็ง จาก จ.พิษณุโลก นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี ปทุมธานี จำนวน 57 ตัวอย่าง พบเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ 21 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 37 โดยเฉพาะการตรวจตัวอย่างน้ำแข็งและเครื่องดื่มผสมน้ำแข็ง 19 ตัวย่าง พบเชื้อก่อโรคอาหารเป็นพิษทุกตัวอย่าง ได้ประสานให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ดังกล่าว ควบคุมมาตรฐานแล้ว และขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำแข็งหรือเครื่องดื่มผสมน้ำแข็งไปก่อน ควรดื่มน้ำดื่มสะอาดเช่นน้ำดื่มบรรจุขวดมีเครื่องหมาย อย. หรือน้ำที่ผ่านเครื่องกรองน้ำ หรือน้ำต้มสุก จะปลอดภัยกว่า อนึ่งโรคฉี่หนู เป็นเชื้อแบคทีเรียมีรูปร่างคล้ายเกลียว อาศัยอยู่ในฉี่ของหนู จะปนเปื้อนอยู่ตามแหล่งน้ำขังต่างๆ เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกาย จะเข้าสู่กระแสเลือดอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดอาการป่วย ลักษณะเฉพาะโรคนี้คือ มีไข้สูง หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามตัว โดยเฉพาะอาการปวดที่น่อง ตาแดงแต่ไม่มีขี้ตา คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว ****************************************** 5 พฤศจิกายน 2554


   
   


View 8       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ