ปลัด สธ. ติดตามการดูแลรักษา “พระ-ผู้แสวงบุญ” ในดินแดนพุทธภูมิ จัดส่งทีมแพทย์ 6 รุ่น รวม 60 คน
- สำนักสารนิเทศ
- 15 View
- อ่านต่อ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมทุกจังหวัด จัดยารักษาโรคฉี่หนู พร้อมให้การรักษาอย่างทันท่วงทีหากพบผู้ป่วยที่มีอาการเข้าข่าย ด้านอธิบดีกรมควบคุมโรค แนะประชาชน หากมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อโดยเฉพาะน่องมาก ให้รีบไปพบแพทย์ อย่าซื้อยากินเองเพราะเข้าใจผิดว่าปวดเมื่อยจากการขนของหนีน้ำ หรือเป็นไข้หวัด ผลเสียจะทำให้โรคกำเริบรุนแรง อาจเสียชีวิตได้
วันนี้ (9 พฤศจิกายน 2554) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์และสาธารณสุขแก่ผู้ประสบอุทกภัย ว่า สถานการณ์น้ำท่วมขณะนี้ มีปัญหาน้ำเน่าเสีย เสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาดหลายโรค ทั้งอุจจาระร่วง ไข้เลือดออก ตาแดง และโรคฉี่หนู หรือเลปโตสไปโรซีส และเริ่มพบผู้ป่วยประปราย โดยเริ่มพบผู้ป่วยอาการน่าสงสัยโรคฉี่หนูในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน 7 ราย มีประวัติความเสี่ยงในการลุยน้ำเข้าไปในที่พักอาศัยที่มีน้ำท่วมขัง ได้เน้นย้ำให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพื้นที่น้ำท่วม และสำนักงานควบคุมโรคทั้ง 12 เขต เฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดการระบาดในวงกว้าง นอกจากนี้ ได้ให้หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ เตรียมยารักษาโรคฉี่หนูไปด้วย หากพบผู้ป่วยมีอาการคล้ายโรคฉี่หนู จะได้ให้การรักษาอย่างทันท่วงที โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะนี้บางพื้นที่น้ำลด ประชาชนเริ่มทยอยกลับไปทำความสะอาดบ้านเรือน มีโอกาสสัมผัสเชื้อสูง
ด้านนายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้กรมควบคุมโรคได้จัดทำแนวทางการรักษาโรคฉี่หนู เพื่อให้หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ปฏิบัติเป็นมาตรฐานเดียวกัน อาการที่เข้าข่ายโรคฉี่หนู 3 อาการหลักได้แก่ ไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อโดยเฉพาะที่น่องและโคนขา โดยให้รักษาด้วยยาปฏิชีวนะที่ใช้ในโรงพยาบาลอยู่แล้ว รับประทานเช้า-เย็น เป็นเวลา 7 วัน จะช่วยป้องกันการเสียชีวิตได้
นายแพทย์พรเทพกล่าวต่อว่า ประชาชนทุกคนที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังมีความเสี่ยงติดเชื้อฉี่หนู เพราะในช่วงที่มีน้ำท่วม หนูจะหนีน้ำเข้าไปอยู่ในบ้านเรือน และขับเชื้อโรคออกมาพร้อมกับปัสสาวะลงไปปนเปื้อนในน้ำ เชื้อจะมีชีวิตอยู่ในน้ำท่วมขังได้นานนับเดือน โดยหากผู้ที่มีบาดแผลเดินลุยน้ำหรือรับประทานอาหารและน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อน จะติดเชื้อโรคดังกล่าว ดังนั้นหากประชาชนมีอาการไข้สูง ปวดศรีษะ ปวดกล้ามเนื้อ หลังจากลุยน้ำ หรือออกไปหาปลาช่วงน้ำท่วม ขอให้นึกถึงโรคฉี่หนู ไม่ควรหายามากินเอง ให้รีบไปพบแพทย์ ขณะนี้มียารักษาหายขาด แต่หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องทันท่วงที โดยเฉพาะผู้ที่ซื้อยากินเองเพราะเข้าใจผิดว่าปวดเมื่อยจากการขนของหนีน้ำ หรือเป็นไข้หวัด ทำให้มารับการรักษาช้า จะมีโอกาสเกิดอาการแทรกซ้อน เช่น สมองอักเสบ ไตวาย กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และเสียชีวิตได้
ในการป้องกันการติดเชื้อโรคฉี่หนู ขอให้หลีกเลี่ยงการแช่น้ำ ย่ำน้ำ หากเป็นไปได้ขอให้ทำทางเดินเท้าให้สูงกว่าน้ำท่วม ผู้ที่ต้องเดินลุยน้ำหรือทำความสะอาดบ้านเรือนให้สวมอุปกรณ์ป้องกัน เช่นรองเท้าบู๊ทยาง ถุงมือยาง เพื่อป้องกันการเกิดบาดแผลและการติดเชื้อ ให้เก็บกวาดขยะใส่ถุพลาสติก มัดปากถุงให้แน่น ไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนูและสัตว์อื่นๆ รับประทานอาหารที่ปรุงสุก สะอาดมีฝาปิดมิดชิด หากเป็นอาหารค้างมื้อให้นำมาอุ่นให้เดือดเพื่อฆ่าเชื้อโรค และหลังลุยน้ำย่ำโคลน เดินบนที่ชื้นแฉะ หรือเสร็จจากการทำความสะอาดบ้านเรือน ขอให้รีบอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด เช็ดตัวให้แห้งโดยเร็วที่สุด
************************ 9 พฤศจิกายน 2554