สาธารณสุข   เร่งเอ็กซเรย์พื้นที่หลังน้ำลดทุกจุด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาโรคระบาดตามมา โดยให้กรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมอนามัย กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ อย. ร่วมดำเนินการเฝ้าระวังและป้องกันอย่างเต็มที่   โดยจะมีการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำขังที่มีจำนวนมาก เร่งกำจัดขยะ และอาจพิจารณาใช้กฎหมายคือพระราชบัญญัติการสาธารณสุขพ.ศ.2535 ด้วย หากจำเป็น เพื่อให้การควบคุมโรคบรรลุเป้า         

   วันนี้ (16 พ.ย. 2554) ที่กระทรวงสาธารณสุข  จ.นนทบุรี นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข เพื่อติดตามความก้าวหน้าการให้ความช่วยเหลือและการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวานนี้ นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยปัญหาโรคระบาดที่ตามมากับน้ำท่วม ซึ่งหลายฝ่ายวิตกกังวลอาจจะเกิดขึ้นภายหลังน้ำลด เนื่องจากมีพื้นที่มีผลกระทบกว้างขวางถึงกทม.และปริมณฑล ได้กำชับให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการป้องกันและดูแลเรื่องยา และเวชภัณฑ์มีใช้อย่างเพียงพอ 
 
  นายต่อพงษ์กล่าวต่อว่า ในที่ประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขวันนี้ ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเอ็กซเรย์พื้นที่น้ำลดทุกตำบลทุกจังหวัด เพื่อเฝ้าระวังไม่ให้เกิดโรคระบาด โดยให้กรมควบคุมโรค กรมอนามัย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพซึ่งมีกำลังอสม.ทุกหมู่บ้าน ดำเนินการสำรวจข้อมูลสถานการณ์จริงในพื้นที่ รวมทั้งสิ่งที่จะก่อให้เกิดความเสี่ยงของโรคระบาด เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์เชิงลึก และวางแผนความพร้อม ป้องกันควบคุมอย่างเข้มข้น เพื่อไม่ให้เกิดโรคระบาด และหากจำเป็นอาจนำกฎหมาย (กม.) คือพระราชบัญญัติการสาธารณสุขพ.ศ.2535 ซึ่งอยู่ในความดูแลของกระทรวงสาธารณสุขมาใช้เพื่อจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมภายหลังน้ำท่วม เพื่อให้ภารกิจการควบคุมป้องกันโรคบรรลุเป้าหมาย   โดยเฉพาะปัญหาขยะ น้ำเน่าเสีย ซึ่งมีจำนวนมากโดยเฉพาะในพื้นที่กทม.และปริมณฑล
 
  ทางด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำแผนฟื้นฟูพื้นที่หลังน้ำลดทั้งหมดแล้ว วัตถุประสงค์หลักคือการป้องกันไม่ให้เกิดโรคระบาดที่สำคัญ 10 โรค เช่น โรคอุจจาระร่วง โรคฉี่หนู โรคไข้หวัดใหญ่ โรคตาแดง โดยได้กำหนดแผนการฟื้นฟูทุกตำบลจะต้องประกอบด้วย 10 เรื่องดังนี้ 1.การเปิดบริการในสถานบริการที่ถูกน้ำท่วม ให้สามารถดำเนินการตามปกติ 2.การให้บริการนอกสถานที่แก่ผู้ที่ต้องดูแลเป็นพิเศษได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้พิการ และผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง 3.การซ่อมแซมสถานบริการที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม 4. การเฝ้าระวังโรคทั้งผู้ป่วยในสถานที่พักพิง ในโรงพยาบาล และการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ 5.การป้องกันโรค โดยพื้นที่มีกิจกรรมร่วมกับชุมชนในการป้องกันโรคสำคัญคือโรคฉี่หนู โรคอุจจาระร่วง   หรืออาหารเป็นพิษ รวมทั้งโรคไข้หวัดใหญ่
 
  6.การควบคุมโรค โดยมีทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วพร้อมเข้าปฏิบัติการทันทีเมื่อเกิดโรคและภัยสุขภาพภายใน 24 ชั่วโมง 7.การควบคุมคุณภาพอาหารและ น้ำ โดยดำเนินการล้างตลาดสด ปรับปรุงระบบประปาให้ปลอดภัยตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก 8.กำจัดขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล โดยจะมีการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำขังที่มีจำนวนมาก ปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้กลับสูสภาพปกติ 9.ดูแลสุขภาพจิตผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง และ10.มีการปฏิบัติงานของอสม.ในพื้นที่ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค และฟื้นฟูสุขภาพจิต ทั้งนี้ได้มอบหมายให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเป็นผู้จัดการควบคุมกำกับให้มีการดำเนินกิจกรรมฟื้นฟูในพื้นที่ในระดับตำบล และให้กรมวิชาการต่างๆสนับสนุนด้านวิชาการ และผู้ตรวจราชการเป็นผู้กำกับการปฏิบัติ มั่นใจว่า มาตรการเหล่านี้จะควบคุมไม่ให้เกิดปัญหาโรคระบาดได้  
 
                                                                                                                                          *********     16 พฤศจิกายน 2554
 


   
   


View 9    16/11/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ