รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ห่วงปัญหาโรคระบาดหลังน้ำลด ที่สำคัญเช่นโรคอุจจาระร่วง โรคฉี่หนู ตาแดง โรคไข้หวัดใหญ่ กำชับให้วอร์รูมแก้ไขน้ำท่วมสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ป้องกัน และควบคุมอย่างใกล้ชิดวันต่อวัน เน้นให้คุมเข้มมาตรฐานระดับคลอรีนในน้ำประปาให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานโลก ความสะอาดอาหาร ส้วม และการควบคุมโรครวดเร็วภายใน 24 ชั่วโมงหากพบผู้ป่วย ยันจนถึงขณะนี้ทุกพื้นที่หลังน้ำลด อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย ยังไม่มีโรคระบาด   

   นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้หลายจังหวัดที่ประสบภัย กว่า 2 ใน 3 ระดับน้ำเริ่มลดลง และเข้าสู่ระยะการฟื้นฟู กระทรวงสาธารณสุขได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ประสบภัยทุกแห่ง ดำเนินการควบคุมป้องกันโรคระบาดที่อาจตามมาหลังน้ำลด ที่สำคัญเช่นโรคอุจจาระร่วง โรคฉี่หนู โรคตาแดง และโรคไข้หวัดใหญ่ อย่างเข้มข้น โดยให้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมหรือวอร์รูมน้ำท่วมของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่ประสบภัยทุกแห่ง ติดตามเฝ้าระวังผู้ป่วย ป้องกันและควบคุมอย่างเข้มข้นและใกล้ชิดทุกวันที่จุดพักพิง ที่สถานพยาบาลทุกแห่ง และที่ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่รายวัน จนถึงขณะนี้ขอยืนยันว่า ยังไม่มีปัญหาโรคแพร่ระบาดใดๆเกิดขึ้นหลังน้ำลด ประเทศไทยปลอดภัยจากโรคระบาด ผู้ป่วยที่พบมีประปราย ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติทั่วไป โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ให้ทุกจังหวัดเร่งฟื้นฟูพื้นที่ตั้งแต่ระดับตำบล ให้กลับมาสู่ปกติภายใน 45 วันหลังน้ำลดแล้ว ขอให้ทุกฝ่ายมั่นใจในมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขได้
 
    ทางด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สำหรับโรคอุจจาระร่วงนั้นเป็นโรคที่พบได้ง่าย เนื่องจากปนเปื้อนมากับน้ำดื่มน้ำใช้ และอาหารที่รับประทานเข้าไป กระทรวงสาธารณสุขได้ใช้มาตรการป้องกัน 3 หลักการคือ 1.เฝ้าระวังคุณภาพน้ำประปาทั้งประปานครหลวง ประปาจังหวัด และระบบประปาท้องถิ่น โดยในช่วงปกติทั่วไป กำหนดให้มีคลอรีนตกค้างระหว่าง  0.2 พีพีเอ็ม และในสภาวะน้ำท่วม กำหนดให้ค่าคลอรีนตกค้างในน้ำดังกล่าวระหว่าง  0.5 ถึง 1 พีพีเอ็ม ซึ่งเป็นระดับที่ปลอดภัย เป็นไปตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก 2.เฝ้าระวังคุณภาพความปลอดภัยอาหารทั่วไป อาหารบริจาค และน้ำดื่ม น้ำแข็ง โดยสุ่มตรวจอย่างต่อเนื่อง และความสะอาดของตลาดสด  และ3.ความสะอาดของห้องน้ำห้องส้วม หรือจัดที่รองรับสิ่งขับถ่ายจากประชาชนที่ประสบภัยให้ถูกวิธี ไม่ถ่ายลงน้ำท่วมขังและมีมาตรการควบคุมโรคที่รวดเร็ว โดยหากมีผู้ป่วยจากโรคในข่ายเฝ้าระวัง หน่วยสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วซึ่งมีทุกจังหวัด ทุกอำเภอ จะลงพื้นที่ทำการควบคุมภายใน 24 ชั่วโมง  
 
    นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อไปว่า โดยเฉพาะหากผู้ป่วยอุจจาระร่วงในพื้นที่ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขดำเนินการควบคุม ป้องกันการแพร่ระบาด และให้เก็บตัวอย่างอุจจาระของผู้ป่วย ส่งตรวจเพื่อหาเชื้อต้นเหตุ โดยให้รายงานผลเร็วขึ้นจาก 2-3 วัน เป็นภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งทำให้สามารถควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็ว โดยขณะนี้ดำเนินการในพื้นที่นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร และกทม. เนื่องจากพื้นที่เป็นสภาพเมือง มีชุมชนหนาแน่น     
 
                                                 *******************************    18 พฤศจิกายน 2554
 


   
   


View 9    18/11/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ