วันนี้ (23 พฤศจิกายน 2554) ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชนครไทย อ.นครไทย จ.พิษณุโลก นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข บรรยายพิเศษเรื่องการสนองพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเรื่องอุทกภัยของรัฐบาล ในงานประชุมสัมมนาการพัฒนาโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ครั้งที่ 15  “โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั่วไทย ร่วมใจภักดิ์ เฉลิมพระเกียรติ 84พรรษา มหาราช” โดยมี ฯพณฯ ศาสตราจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุม มีตัวแทนจากโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั้ง 21 แห่ง ทั่วประเทศเข้าร่วมประชุม 500 คน

  นายวิทยา กล่าวว่า จากเหตุการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศไทย รัฐบาลได้ดำเนินการตามโครงการพระราชดำริแก้มลิง ในการแก้ปัญหา ทำให้หลายพื้นที่ของประเทศสถานการณ์เริ่มคลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติ โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งนอกจากรัฐบาลจะมุ่งเน้นการแก้ไขการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเป็นงานหลักแล้ว การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบทั้งร่างกายและจิตใจ เป็นงานที่สำคัญ กระทรวงสาธารณสุขในฐานะหน่วยงานหลักในการดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชน ได้ดำเนินงานสนองพระราชดำรัสด้านการแพทย์และสาธารณสุข ในส่วนของการบริการทางการแพทย์ การดูแลสุขภาพอนามัยสิ่งแวดล้อม สุขาภิบาลน้ำและอาหาร การกำจัดสิ่งปฏิกูล การเฝ้าระวังโรค การป้องกันโรค

    
        
        
  มีรายละเอียด ดังนี้  1.การเตรียมเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาล กรณีโรงพยาบาลไม่สามารถเปิดบริการได้ตามปกติ เช่น การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา  2.การเตรียมพร้อมของสถานบริการ โดยการจัดทำแผนป้องกันรองรับอุทกภัยของสถานบริการ ทั้งระบบไฟฟ้า ออกซิเจน ยาเวชภัณฑ์  3.ตั้งโรงพยาบาลสนาม กรณีที่โรงพยาบาลถูกน้ำท่วมไม่สามารถเปิดบริการได้ หรือประชาชนเดินทางมารับบริการ โดยให้บริการตรวจโรคทั่วไป โรคเรื้อรัง และอุบัติเหตุฉุกเฉิน  4.จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ให้บริการประชาชนตามจุดต่างๆ โดยให้บริการสุขภาพทั้งสุขภาพกายและจิตใจ ซึ่งครอบคลุมการให้บริการในศูนย์พักพิงที่มีผู้ประสบภัยจำนวนมาก

 5.ให้การสนับสนุนในการดูแลอนามัยสิ่งแวดล้อม สุขาภิบาลน้ำและสุขาภิบาลอาหาร  6.การเฝ้าระวังโรคในศูนย์พักพิง  7.การฟื้นฟูด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะพื้นที่น้ำท่วมขัง กำจัดแหล่งน้ำเน่า การกำจัดแมลงและพาหะนำโรค  8.การฟื้นฟูอาคารสถานบริการสาธารณสุขและเครื่องมือแพทย์ที่ได้รับความเสียหายให้กลับมาใช้งานตามปกติและมีมาตรฐานโดยเร็ว  9.การป้องกัน ควบคุมโรค ความปลอดภัยของอาหารและน้ำ  10.การจัดการปัญหาขยะสิ่งปฏิกูล เพื่อป้องกันการระบาดของโรคหลังน้ำลด  11.การจัดทีมแพทย์และเจ้าหน้าที่ จำนวน 40 ทีม จากนอกพื้นที่ประสบภัยให้การช่วยเหลือผู้ประสบร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่

ทั้งหมดเป็นการดำเนินงานเพื่อสนองพระราชดำรัสในการแก้ไขปัญหาอุทุกภัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสอดรับการดำเนินงานแก้ไขปัญหาอุทุกภัยของรัฐบาล เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤต
 
 
                                                                                                                                                                                           ...............................  23 พฤศจิกายน 2554


   
   


View 5       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ