วันนี้ (16 ธันวาคม 2554) นายวิทยา  บุรณศิริ  รัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุข   พร้อมด้วยนายแพทย์คำรณ ไชยศิริ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขประจำเขต 14 ซึ่งดูแลจังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ และสุรินทร์ และคณะ เดินทางไปตรวจเยี่ยมศูนย์แพทย์ชุมชนหัวทะเล อ.เมือง จ.นครราชสีมา เพื่อติดตามผลการดำเนินการตามนโยบายการพัฒนาระบบบริการประชาชนที่อยู่ในเขตเทศบาลเมือง เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ และลดความแออัดผู้ป่วยในโรงพยาบาลใหญ่โดยเฉพาะโรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไปในสังกัด 

          นายวิทยากล่าวว่า รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี มีนโยบายพัฒนาคุณภาพบริการสุขภาพแก่ประชาชนไทยทุกระบบสวัสดิการที่มี 65.4 ล้านคน ให้มีสุขภาพดี การเจ็บป่วยลดลง โดยเฉพาะโรคเรื้อรังที่สำคัญคือเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง มะเร็ง โรคหัวใจ โดยในปีงบประมาณ 2555 นี้ จะเน้นหนักที่การลดความแออัดของผู้ป่วย ซึ่งเป็นปัญหาอันดับ 1 ในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปซึ่งมี 95 แห่งทั่วประเทศ ต่อวันมีผู้ป่วยใช้บริการ 1,200-3,000 คน โดยจะพัฒนาศักยภาพความเข้มแข็งระบบบริการขั้นพื้นฐานในเขตชนบท คือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ส่วนในเขตเทศบาลเมืองทั้ง 76 จังหวัด จะจัดตั้งศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง ซึ่งเป็นบริการใหม่ล่าสุด ยังไม่มีในเขตเมืองมาก่อน มีบุคลากรทุกสาขา ทำหน้าที่ให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยนอกทุกโรค แทนแผนกผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ไม่มีเตียงนอนรักษา และเพิ่มบริการส่งเสริมสุขภาพคนในชุมชนไม่ให้เจ็บป่วย และติดตามฟื้นสมรรถภาพผู้ป่วยเรื้อรังที่อยู่บ้าน เช่นผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาต ผู้ป่วยช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ป้องกันโรคแทรกซ้อน ในเบื้องต้นมีนโยบายตั้ง 215 แห่ง จนถึงขณะนี้ดำเนินการได้เกินเป้า มีการจัดตั้งศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองไปแล้ว 233 แห่งทั่วประเทศ
          จากการตรวจเยี่ยมศูนย์สุขภาพชุมชนหัวทะเล ที่จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นจังหวัดใหญ่ที่สุดในภาคอีสานประชากร 2.5 ล้านกว่าคน มีศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองและรพ.สต.ทั้งหมด 45 แห่ง ใน 13 เครือข่ายบริการ ดูแลประชาชนในอ.เมืองครอบคลุม 460,000 คน จากการประเมินผลภาพรวม โดยเฉพาะผู้ป่วยในโครงการ 30 บาท ในปี 2554 ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ อัตราการใช้บริการที่ศูนย์แห่งนี้มีสูงร้อยละ 81 ขณะที่ใช้บริการที่โรงพยาบาลมหาราชฯร้อยละ 19 ลดกว่าปี 2546 ที่ใช้บริการมากถึงร้อยละ 32 ที่ชัดเจนที่สุดและเป็นผลงานเด่นที่น่าชื่นชม คือผู้ป่วยโรคเรื้อรังทั้งเบาหวาน ความดันโลหิตสูงได้รับบริการใกล้บ้าน โดยจากผู้ป่วยเบาหวานอำเภอเมือง 11,729 คน ไปใช้บริการที่ศูนย์สุขภาพชุมชน 10,502 คน มีการติดตามผลการรักษาและดูแลป้องกันโรคแทรกซ้อนที่สำคัญคือตาบอด ไตวาย และแผลที่เท้ามากถึงร้อยละ 85 ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง 29,718 ราย รับบริการที่สุขภาพชุมชน 28,406 ราย มีผู้ป่วยเบาหวานที่มีโรคแทรกซ้อนร้อยละ 9.5 และผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่มีโรคแทรกซ้อนร้อยละ 5 ที่ต้องส่งรักษาแพทย์เฉพาะทางที่โรงพยาบาลมหาราชฯ
          นายวิทยากล่าวต่อว่า ทั้งนี้ กลุ่มผู้ป่วยที่ใช้สิทธิสวัสดิการข้าราชการซึ่งมีประมาณร้อยละ 30 ของผู้ป่วยที่ยังไม่สามารถใช้สิทธิเบิกจ่ายตรงได้ และต้องไปใช้สิทธิที่โรงพยาบาลใหญ่เหมือนเดิม ทำให้เกิดปัญหาแออัดโดยไม่จำเป็น กระทรวงสาธารณสุขจะให้หน่วยบริการปรับระบบให้ข้าราชการสามารถใช้สิทธิที่สถานบริการเหล่านี้ได้ เนื่องจากบริการทุกแห่งมีมาตรฐานเดียวกันและใช้ยาในระบบบัญชียาหลักแห่งชาติเหมือนกันอยู่แล้ว มั่นใจว่าเมื่อระบบบริการพื้นฐานเข้มแข็งขึ้น ในอีก 3-4 ปีนี้ โรงพยาบาลขนาดใหญ่ของกระทรวงสาธารณสุขที่มีแพทย์เฉพาะทางทุกสาขาจะเป็นศูนย์เชี่ยวชาญรักษาผู้ป่วยโรคที่ยุ่งยากซับซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่แน่นแออัด  
************************** 16 ธันวาคม 2554


   
   


View 9    16/12/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ