รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เร่งนโยบายให้ทุกจังหวัด ลดการป่วย-ตายประชาชนไทยจาก 5 โรคสำคัญ อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ในปี 2555 จะเน้นกระตุ้น 2 เรื่องหลักคือ การออกกำลังกาย หลังพบผลสำรวจล่าสุดในปี 2554 มีคนไทยอายุ 11 ปีขึ้นไป ออกกำลังกายเพียง 1 ใน 4 และการคุ้มครองความปลอดภัยอาหารบริโภค น้ำแข็ง น้ำดื่มบรรจุขวด รวมทั้งน้ำจากตู้หยอดเหรียญ  
 
          วันนี้ (21 ธันวาคม 2554)  นายวิทยา   บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  เป็นประธานเปิดโครงการออกกำลังกาย อสม.เข้มแข็ง ออกแรง สุขภาพดี   (แข็ง แรง ดี) ที่โรงพยาบาลองครักษ์ จ.นครนายก โดยอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ในอำเภอองครักษ์และอำเภอบ้านนา เพื่อเป็นแกนนำกระตุ้นให้ประชาชนในพื้นที่ออกกำลังกาย ส่งเสริมสุขภาพให้แข็งแรง และเปิดงานมหกรรมอาหารปลอดภัย อสม.ร่วมใจ ห่วงใยสุขภาพซึ่งจัดขึ้นที่โรงพยาบาลนครนายก โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 1,000 คน
 
นายวิทยา  กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายเร่งแก้ไขปัญหาการป่วยและเสียชีวิตของคนไทยจาก 5โรคสำคัญที่เรียกว่าโรคไม่ติดต่อ ซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นทั่วโลกได้แก่โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคมะเร็ง และเป็นประเด็นนโยบายของนายกรัฐมนตรี แม้ว่าไทยจะมีระบบประกันสุขภาพที่ได้รับการชื่นชมจากทั่วโลกก็ตาม แต่ที่ผ่านมาจะรองรับการดูแลรักษาการเจ็บป่วยเป็นส่วนใหญ่ สถิติในปี 2553ทั้ง 5โรคมีผู้ป่วยเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล 2ล้านกว่าราย เสียชีวิตรวม 1แสนกว่าราย หรือคิดเป็นร้อยละ 25 ของผู้เสียชีวิตทุกสาเหตุทั่วประเทศที่มีประมาณ 4 แสนราย สาเหตุการป่วยเกี่ยวข้องกับ 2 ปัจจัย คือการขาดการออกกำลังกาย และเรื่องอาหารการกิน
 
ดังนั้น ในปี 2555 นี้ กระทรวงสาธารณสุขจะเน้นหนักให้ทุกจังหวัดเร่งแก้ไข และป้องกันการป่วย 2 กิจกรรมหลัก สอดรับกับการบริหารหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรง ประการแรกคือการกระตุ้นให้คนไทยออกกำลังกายให้มากขึ้น โดยให้ อสม. 1 ล้านคนทั่วประเทศ ซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับพื้นที่และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เป็นผู้นำในการรณรงค์ โดยผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติครั้งล่าสุดในปี 2554 ในคนไทยอายุ 11 ปีขึ้นไป ที่มีทั้งหมด 57 ล้านกว่าคน พบว่าออกกำลังกาย เล่นกีฬา เพียง 15 ล้านกว่าคน หรือกล่าวได้ว่าในคนไทยอายุ 11 ปีขึ้นไป ทุกๆ 4 คน จะมีคนออกกำลังกายเพียง 1 คน ซึ่งสถิติลดลงจากปี 2550 ร้อยละ 3 ดังนั้นจึงจำเป็นต้องกระตุ้นให้คนที่ไม่ออกกำลังกายจำนวน 42 ล้านคน หันมาใช้เวลาออกกำลังกายให้เป็นประจำ ให้ได้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน วันละ 30 นาทีเป็นอย่างน้อย     
                      
ประการที่ 2 คือการคุ้มครองความปลอดภัยอาหารจะให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ตรวจสอบเฝ้าระวังอาหารปนเปื้อนครอบคลุมทั้งตลาดสด รถเร่ ตลาดนัด ทุกหมู่บ้าน โดยเน้นตรวจความปลอดภัยอาหาร-น้ำรวม 8ประเภท ได้แก่ 1.บอแรกซ์ที่ลักลอบในเนื้อสัตว์ ขนมหวาน 2.สารฟอกขาว 3.สารกันรา 4.ฟอร์มาลิน 5.สารกำจัดศัตรูพืชตกค้าง 6.สารเร่งเนื้อแดง 7. สารโพลาร์ในน้ำมันทอดซ้ำ ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง โดยแต่ละปีคนไทยบริโภคน้ำมันพืชกว่า 8 แสนตัน และ 8. น้ำแข็ง ไอศกรีม น้ำดื่มทั้งบรรจุขวด และน้ำจากตู้หยอดเหรียญซึ่งกำลังได้รับความนิยม โดยผลการเฝ้าระวังตรวจสอบในปี 2554 ทั้งหมด 435,740 ตัวอย่าง พบอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยร้อยละ 97 จะผลักดันให้อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยทั้งหมด ซึ่งเรื่องนี้จะมีการตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดประกอบด้วยหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานเพื่อติดตามควบคุมแก้ไขอย่างต่อเนื่อง    และยกมาตรฐานร้านอาหาร แผงลอย ตลาดสด ให้ถูกหลักสุขาภิบาล ปลอดภัย ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 
********************************** 21 ธันวาคม 2554


   
   


View 9    21/12/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ