รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยผลการฟื้นฟูเยียวยาพื้นที่หลังน้ำลด 65 จังหวัด 684 ตำบล ของกระทรวงสาธารณสุขคืบหน้า บรรลุเป้าไปแล้วร้อยละ 96 ผลการตรวจประเมินสภาพจิตใจประชาชนหลังผ่านการเยียวยาพบว่ามี 61 จังหวัดที่ประชาชนมีค่าความเข้มแข็งทางจิตใจสูงกว่าร้อยละ 50 วันนี้ ( 24 ธันวาคม 2554 )นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์สมชัย นิจพานิช รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลตรัง จ.ตรัง นายวิทยา ให้สัมภาษณ์ภายหลังการตรวจเยี่ยมเกี่ยวกับความคืบหน้าของการฟื้นฟูเยียวยาพื้นที่หลังประสบภัยน้ำท่วมว่า ภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้น ใน 65 จังหวัดตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม 2554 เป็นต้นมา มีประชาชนได้รับผลกระทบ 13 ล้านกว่าคน ที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกินเสียหาย ขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภค และได้รับความกระทบกระเทือนด้านจิตใจ ขณะนี้พื้นที่ร้อยละ 91 กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ยังเหลือใน 6 จังหวัดได้แก่ พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะพื้นที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่ระดับน้ำลดกลับสู่สภาวะปกติแล้ว กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งเดินหน้าแผนการฟื้นฟูเยียวยา ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี โดยดำเนินการฟื้นฟูตำบลที่ถูกน้ำท่วมทั้งหมด 684 ตำบล ครอบคลุมทั้งโรงพยาบาลที่ถูกน้ำท่วม และฟื้นฟูดูแลสุขภาพกายและสภาพจิตใจผู้ประสบภัยหลังน้ำลด ให้กลับคืนสู่สภาพปกติ ตั้งเป้าให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน ผลจนถึงขณะนี้ทุกจังหวัด มีความคืบหน้าเฉลี่ยร้อยละ 96 ไม่มีโรคแพร่ระบาดหลังน้ำน้ำลดแต่อย่างใด ซึ่งถือว่าเป็นความสำเร็จของกระทรวงสาธารณสุข ในการจัดการควบคุมป้องกันการเกิดโรคระบาดในภาวะวิกฤติที่ยาวนานติดต่อกันกว่า 4 เดือน สำหรับมาตรการฟื้นฟูเยียวยาหลังน้ำลด กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้ทุกพื้นที่ต้องผ่านเกณฑ์ 10 เรื่อง อาทิ สถานบริการที่ถูกท่วมเสียหาย ซึ่งมีทั้งหมด 594 แห่ง ขณะนี้ส่วนใหญ่ร้อยละ 99 สามารถเปิดบริการได้ตามปกติ เหลือใน 3 จังหวัดคือ นครปฐม ลพบุรีและสมุทรสาคร ที่เปิดให้บริการได้บางส่วน การให้บริการกลุ่มเป้าหมายพิเศษทั้งในและนอกสถานที่ได้แก่ผู้สูงอายุ หญิงมีครรภ์ เด็ก ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้พิการ ทุกจังหวัด ดำเนินการได้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายมากกว่าร้อยละ 80 ส่วนการดูแลสุขภาพจิตประชาชน ผลการตรวจประเมินความเข้มแข็งทางใจภายหลังการเยียวยา พบว่ามีพื้นที่ที่มีค่าความเข้มแข็งสูงกว่าร้อยละ 50 ขึ้นไป จำนวน 61 จังหวัด ยังเหลือ 4 จังหวัดที่ค่าความเข้มแข็งทางใจต่ำกว่าร้อยละ 50 ต้องฟื้นฟูต่อเนื่องได้แก่ ลพบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยาและยโสธร ทั้งนี้ ผลการตรวจคัดกรองประเมินปัญหาสุขภาพจิตในกลุ่มผู้ประสบภัย เพื่อให้การดูแลฟื้นฟูต่อเนื่อง จนถึงวันนี้ ดำเนินการไปแล้ว 125,887 ราย พบผู้ที่มีความเครียดสูง 7,555 ราย ซึมเศร้า 9,762 ราย เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย 1,753 ราย ต้องติดตามดูแลใกล้ชิดเป็นพิเศษจำนวน 2,836 ราย ซึ่งผู้ที่มีปัญหาดังกล่าวทุกรายจะได้รับการดูแลจากจิตแพทย์ นักจิตวิทยา พยาบาลเชี่ยวชาญ รวมถึงเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านจนกว่าจะกลับคืนสู่สภาวะปกติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าว **************************************** 24 ธันวาคม 2554


   
   


View 9    24/12/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ