ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2555 สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนวันที่ 1 ม.ค.55 เกิดอุบัติเหตุ 562 ครั้ง เสียชีวิต 76 คน บาดเจ็บ 600 คน รวม 4 วัน  ผู้เสียชีวิต 241 คน ผู้บาดเจ็บ 2,382 คน จังหวัดที่ยังไม่เกิดอุบัติเหตุ 2 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ ตราด ส่วนจังหวัดที่ยังไม่มีผู้เสียชีวิตทั้ง 4 วัน รวม 16 จังหวัด พร้อมเน้นย้ำจังหวัดปรับแผนการจัดตั้งจุดตรวจ เน้นการปฏิบัติงานบนถนนสายหลัก เข้มงวดการตรวจจับการใช้ความเร็วและการเมาแล้วขับหากพบเห็นผู้บาดเจ็บโทรแจ้ง 1669 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนผลตรวจผู้ทำผิดกฎหมายควบคุมเหล้า พบผู้กระทำผิด ดำเนินคดี 4 วันรวม 52 ราย

               นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รองประธานกรรมการนโยบายป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ(นปถ.)แถลงข่าวสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2555 ว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2555 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 1 ม.ค.55 ซึ่งเป็นวันที่สี่ของการรณรงค์ฯ เกิดอุบัติเหตุ 562 ครั้ง ลดลงจาก ปี 2554 (777 ครั้ง) 215 ครั้ง ร้อยละ 26.67 ผู้เสียชีวิต 76 คน ลดลงจากปี 2554 ที่มี 83 คน 7 คน ร้อยละ 8.43 ผู้บาดเจ็บ 600 คน ลดลงจากปี 2554  (845 คน) จำนวน 245 คน คิดเป็นร้อยละ 28.99 
สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 47.86 รองลงมา ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 19.93 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 82.59 รองลงมา ได้แก่ รถปิกอัพ ร้อยละ 10.52 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 61.74 บนถนนอบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 36.30 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01- 20.00 น. ร้อยละ 25.44 ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน ร้อยละ 53.26 จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เชียงราย 24 ครั้ง รองลงมา ได้แก่ ภูเก็ตและนครสวรรค์20 ครั้ง
จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุดได้แก่นครสวรรค์ 6 คน รองลงมา ได้แก่ เชียงราย สระแก้ว กรุงเทพฯ และชัยนาท (4 คน)จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่เชียงราย 26 คน รองลงมา ได้แก่นครสวรรค์ 24 คน จังหวัดที่ไม่เกิดอุบัติเหตุ รวม 6 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชัยภูมิ ตราด ยโสธร หนองคาย และหนองบัวลำภู ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,465 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 69,793 คน เรียกตรวจยานพาหนะ704,164 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดีตามมาตรการลดพฤติกรรมเสี่ยง 10 มาตรการ รวม 97,359 คน ส่วนใหญ่ไม่สวมหมวกนิรภัย 30,698 คน รองลงมา ไม่มีใบขับขี่ 27,121 คน 
สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม 4 วัน (วันที่ 29 ธ.ค.54 – 1 ม.ค.55) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,167 ครั้ง ลดลงจากปี 2554 (2,473 ครั้ง) 306 ครั้ง ร้อยละ 12.37 ผู้เสียชีวิตรวม 241 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2554 (234 คน) 7 คน ร้อยละ 2.99 ผู้บาดเจ็บรวม 2,382 คน ลดลงจาก ปี 2554 (2,656 คน) 274 คน ร้อยละ 10.32 จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสูดในช่วง 4 วัน ได้แก่ เชียงราย 85 ครั้ง รองลงมา ได้แก่ นครสวรรค์ 76 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ บุรีรัมย์ 16 คน รองลงมา ได้แก่ นครสวรรค์ 13 คน จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย 88 คน รองลงมา ได้แก่ นครสวรรค์ 81 คน จังหวัดที่ยังไม่เกิดอุบัติเหตุ 2 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ ตราด จังหวัดที่ยังไม่มีผู้เสียชีวิต 16 จังหวัด
ทั้งนี้ ในวันที่ 3 -4 มกราคม 2555 จะเป็นวันที่ประชาชนเดินทางกลับกรุงเทพหรือจังหวัดต่างๆ ได้ให้ทุกจังหวัดประชาสัมพันธ์แนะนำประชาชนวางแผนเดินทางกลับ ขอให้พักผ่อนให้เพียงพอ งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ทางที่ดีผู้ขับขี่ควรจอดแวะพักทุก 2 ชั่วโมง หรือทุกระยะ 150 กิโลเมตร ให้ผู้โดยสารหมั่นสังเกตอาการพนักงานขับรถ หากพบว่ามีการเหยียบเบรกบ่อยๆ นั่งนิ่งนานๆ มีอาการหาวบ่อย ให้หยุดจอดพักรถหรือเปลี่ยนให้ผู้อื่นขับแทน และประเด็นสำคัญหากประชาชนพบเห็นผู้บาดเจ็บหรืออุบัติเหตุฉุกเฉินขอให้โทรแจ้งที่หมายเลข 1669 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่ง 4 วันที่ผ่านมาโทรแจ้งเหตุเพียงน้อยมากเพียงประมาณร้อยละ 20 โดยกระทรวงสาธารณสุขได้กำชับให้โรงพยาบาลทุกแห่งปฎิบัติงานตามนโยบาย 3 เร็วคือแจ้งเร็ว รับเร็ว ส่งและรักษาเร็ว และ 2 ดี คือคุณภาพการรักษาดีทั้งภาวะปกติและฉุกเฉิน เพื่อลดการเสียชีวิตและความพิการให้มากที่สุด
สำหรับผลการควบคุมการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามพ.ร.บ. พ.ศ. 2551 กับพ.ร.บ.สุรา พ.ศ. 2493 ผลการตรวจจับรวม 4 วัน ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2554 -1 มกราคม 2555 ในสายเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือและสายใต้ ตรวจทั้งหมด 180 ราย พบกระทำผิด ดำเนินคดี จำนวน 52 ราย คือเป็นร้อยละ 29 หรือเกือบ 1 ใน 3 โดยพบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด 37 ราย ภาคใต้ 10 ราย และภาคเหนือ 5 ราย ส่วนใหญ่กระทำผิดพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 32 รองลงมาคือมาตร 27 และมาตรา 29   โดยมาตรา 32 ว่าด้วยการโฆษณา ชักจูง มีโทษจำคุก1 ปี ปรับ 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับรายวันอีกวันละ 50,000 บาท จนกว่าจะเลิกโฆษณา ส่วนมาตรา 29 ว่าด้วยการขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี มีโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 27 ว่าด้วยการขายในสถานที่ห้ามขาย เช่น ปั้มน้ำมัน สถานที่ราชการ สวนสาธารณะ มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งได้เร่งรัดให้ทุกจังหวัดเข้มงวดการตรวจจับให้มากขึ้น จะช่วยลดปัญหาเมาแล้วขับได้มากขึ้น 
นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เปิดเผยว่า จากการรณรงค์ในช่วง 4 วันที่ผ่านมา พบว่า สถิติอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดขึ้นในปีนี้มีความรุนแรงสูงกว่าช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยสำคัญจากการขับรถเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ผู้ขับขี่มีอาการอ่อนล้า หลับใน ทำให้ชนวัตถุริมข้างทาง การไม่สวมหมวกนิรภัย การโดยสารท้ายรถกระบะ การไม่คาดเข็มขัดนิรภัย เพื่อควบคุมปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว ศปถ.จึงขอเน้นย้ำให้จังหวัดและกองบัญชาการตำรวจนครบาลปรับแผนการจัดตั้งจุดตรวจ เน้นการปฏิบัติงานบนถนนสายหลักรองรับการเดินทางกลับในช่วงวันที่ 2 -3 ม.ค.55 เพื่อเข้มงวดการตรวจจับการใช้ความเร็วและการเมาแล้วขับในยานพาหนะประเภทรถกระบะที่บรรทุกผู้โดยสารจำนวนมากและรถโดยสารสาธารณะเป็นพิเศษ แต่ยังคงจัดตั้งจุดตรวจบนถนนสายรอง เน้นตรวจตักเตือนรถจักรยานยนต์ที่ไม่สวมหมวกนิรภัย             
ท้ายนี้ ขอฝากเตือนผู้ขับขี่ที่เดินทางกลับเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อม นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ตรวจสอบยานพาหนะให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด ไม่ขับรถเร็ว เมาไม่ขับ คาดเข็มขัดนิรภัยและสวมหมวกนิรภัยทุกครั้งที่ขับขี่และโดยสารยานพาหนะ หากรู้สึกอ่อนเพลียหรือมีอาการง่วงนอน ให้แวะพัก บริเวณที่ปลอดภัย เช่น สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง จุดบริการต่างๆ เป็นต้น
                  ***************************************** 2 มกราคม 2555


   
   


View 9    02/01/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ