วันนี้(10 มกราคม 2555)ที่ จังหวัดบุรีรัมย์ นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขพร้อมด้วยนายต่อพงษ์ ไชยสาส์น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะ เปิดการอบรมอาสาสมัครสาธารณสุข(อสม.)เชี่ยวชาญด้านยาเสพติด เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการติดตามช่วยเหลือผู้เสพ/ผู้ติดยาที่ผ่านการบำบัดแล้วและกลับไปอยู่ในชุมชน ไม่ให้หวนกลับมาติดยาซ้ำและมอบใบประกาศเกียรติคุณ อสม.ดีเด่น จ.บุรีรัมย์ ประจำปีงบประมาณ 2554
นายวิทยา กล่าวว่า ปัญหายาเสพติดไม่ใช่ปัญหาของคนใดคนหนึ่งแต่เป็นปัญหาของคนไทยทั้งประเทศ ผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชน (โพลล์) ระบุให้รัฐบาลแก้ไขปัญหานี้โดยเร่งด่วน ซึ่งปัจจุบันปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากปี 2550 มีผู้เสพ 470,000 ราย แต่ในปี 2554 เพิ่มอีก 3 เท่าตัว หรือประมาณ1.4 ล้านคนข้อมูลจากสำนักงาน ป.ป.ส. คาดว่าในปี 2555 ผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดน่าจะมีถึง1.2 ล้านคนและเพื่อสนองพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถที่ทรงชี้ให้เห็นภัยอันตรายของยาเสพติด รัฐบาลและทุกภาคส่วนได้น้อมนำข้อห่วงใยของพระองค์ท่าน มากำหนดเป็นนโยบายและวาระแห่งชาติกำหนดเป็นยุทธศาสตร์พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด ตั้งเป้าลดปัญหายาเสพติดให้ได้ภายใน 1 ปี ให้ทุกฝ่ายบูรณาการการทำงานเป็นระบบ และต้องลดความรุนแรงได้ร้อยละ 80
นายวิทยา กล่าวต่อว่า ภารกิจของกระทรวงสาธารณสุขที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล ตามยุทธศาสตร์พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด ได้ดำเนินการดังนี้ 1.สารตั้งต้นยาเสพติด ได้กำชับให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กำกับและควบคุมตัวยาสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ที่นำมาใช้ในการผลิตยาเสพติดอย่างเข้มงวดและทันสถานการณ์ 2.การบำบัดฟื้นฟูผู้เสพยาเสพติด ได้ทำงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ในโครงการ “คืนคนดีสู่สังคม”ยึดหลักผู้เสพคือผู้ป่วยที่ต้องได้รับการบำบัดรักษาให้กลับมาเป็นคนดีของสังคม ตั้งเป้าในปี 2555 นำผู้เสพ/ผู้ติดยาเข้าสู่ระบบบำบัดทั้ง 3 ระบบไม่น้อยกว่า 400,000 คน โดยเป็นผู้เสพในระบบสมัครใจบำบัด 300,000 คน ผู้ติดยา 100,000 คน
โดยกระทรวงสาธารณสุข จัดตั้งศูนย์บำบัดฟื้นฟูยาเสพติดในโรงพยาบาลชุมชน 878 อำเภอและ 50 เขตในกทม. รวม 928 แห่ง อบรมแพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา นักอาชีวบำบัดเพื่อทำหน้าที่บำบัดฟื้นฟู 5,000 คน และอบรม อสม. หมู่บ้านละ 2 คน รวม 156,966 คน ให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญเรื่องยาเสพติด ทำหน้าที่ติดตามดูแล ช่วยเหลือผู้ที่ผ่านการบำบัดและกลับไปอยู่ในชุมชน 84,954 หมู่บ้านทั่วประเทศ ป้องกันไม่ให้หวนกลับไปติดยาหรือใช้ยาเสพติดซ้ำอีก3.การป้องกันไม่ให้มีกลุ่มผู้เสพรายใหม่ โดยมีโครงการทู บี นัมเบอร์วัน ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกทั่วประเทศกว่า 37 ล้านคน และมีชมรมทูบีนัมเบอร์วันกว่า 3แสนชมรม ในสถานศึกษา ชุมชน และสถานประกอบการ
สำหรับผลการดำเนินงานด้านการบำบัดรักษา ประจำปีงบประมาณ 2554 ตั้งแต่ 1ตุลาคม 2553 -30 กันยายน 2554 มีผู้เข้ารับการบำบัดรักษาประมาณ 155,000 ราย เข้าบำบัดด้วยระบบสมัครใจ 35,000 ราย ระบบบังคับบำบัด 90,000 ราย และระบบต้องโทษ 30,000 ราย
********************************************* 10 มกราคม 2555