วันนี้ (19 มกราคม 2555) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมการบริโภคแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2555 ภายหลังการประชุมนายแพทย์พรเทพ กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยสุขภาพคนไทย อยากให้ทุกคนมีสุขภาพดี ลด ละ เลิกการสูบบุหรี่ รวมทั้งเพิ่มพื้นที่ปลอดควันบุหรี่ เพื่อคุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ ซึ่งเป็นประชาชนกลุ่มใหญ่ของประเทศ

          นายแพทย์พรเทพกล่าวต่อว่า ในปี 2555นี้ กระทรวงสาธารณสุข จะบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 อีก 2 ฉบับ ได้แก่ 1.ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 15 พ.ศ.2554 ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การแสดงคำหรือข้อความที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดหรือจูงใจให้บริโภคในฉลากของบุหรี่ซิกาแรต บุหรี่ซิการ์ ยาเส้นหรือยาเส้นปรุง ประกาศเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2554 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2555 เป็นต้นไป เพื่อให้ผู้บริโภคไม่สับสนกับถ้อยคำที่ธุรกิจยาสูบใช้โฆษณาว่า ผลิตภัณฑ์ยาสูบชนิดนั้นๆ มีคุณภาพดี ไม่มีอันตราย หรือมีอันตรายน้อยกว่าผลิตภัณฑ์ยาสูบอื่นๆและฉบับที่ 2 คือ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 16 พ.ศ.2554 ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การแสดงข้อความเกี่ยวกับสารพิษหรือสารก่อมะเร็งในฉลากของบุรี่ซิกาแรต 10 แบบ ประกาศเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2554 และจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2555 เป็นต้นไป
              สาระสำคัญในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 15 พ.ศ.2554 บังคับห้ามพิมพ์คำหรือข้อความ รูปภาพ หรือตัวอักษรสัญลักษณ์ 3 ลักษณะดังต่อไปนี้บนฉลาก ซอง กล่อง ภาชนะบรรจุผลิตภัณฑ์ยาสูบ ได้แก่    1. คำหรือข้อความที่ทำให้เข้าใจว่าบุหรี่มีระดับสารพิษน้อย ได้แก่ ไมลด์ (mild) มีเดียม (medium) ไลท์ (light) อัลตร้าไลท์ (ultra light) โลว์ทาร์ (low tar)  2. คำหรือข้อความที่แสดงกลิ่นหรือรส ได้แก่ คูล (cool) ไอซ์ (ice)  ฟรอซท์ (frost) คริส์ป (crisp) เฟรซ (fresh)  มินท์ (mint) เมลโล่ว์ (mellow) ริช (rich) ฉุนหรือฉุนพิเศษ        และ3.คำหรือข้อความที่แสดงคุณสมบัติหรือคุณภาพบุหรี่ ได้แก่ สมูท (smooth) แนชเชอรัล (natural)  สเปเชียล (special)  จีนูอีน (genuine)  ลูมินัส (luminous) เอ็กซตร้า (extra) พรีเมี่ยม (premium) อย่างดี และคัดพิเศษ โดยได้ผ่อนผันให้ผู้ประกอบการขยายเวลาให้ผู้ประกอบการปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องตามกฎหมายภายในวันที่ 21 มีนาคม 2555
สาระสำคัญในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 16 พ.ศ.2554 บังคับให้ผู้ผลิตหรือนำเข้าบุหรี่ พิมพ์ข้อความแสดงชื่อสารพิษหรือสารก่อมะเร็งที่มีในบุหรี่ บนซองหรือภาชนะบรรจุบุหรี่ซิกาแรต กล่อง หรือกระดาษหุ้มซอง หรือภาชนะบรรจุบุหรี่ซิกาแรต ซึ่งเป็นการดำเนินการตามแนวปฏิบัติของกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก ที่กำหนดให้ประเทศภาคีสมาชิกควรหมุนเวียน สับเปลี่ยนข้อความและ คำเตือนเกี่ยวกับสารพิษ สารก่อมะเร็งเป็นระยะๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับความรู้เกี่ยวกับพิษภัยของผลิตภัณฑ์ยาสูบ โดยบังคับให้เพิ่มข้อความแสดงชื่อสารพิษและสารก่อมะเร็ง จากเดิมที่มีเพียง 2 แบบ เป็น 10แบบ ได้แก่ 1.ควันบุหรี่มีสารพิษไฮโดรเจนไซยาไนด์ 2.ควันบุหรี่มีสารคาร์บอนมอนอกไซด์   3.ควันบุหรี่มีสารพิษมากกว่า 250 ชนิด    4.ควันบุหรี่เป็นสารพิษสำคัญที่สุดในบ้าน 5.ควันบุหรี่มีสารก่อมะเร็งฟอร์มาลดีไฮด์ 6.ควันบุหรี่มีสารก่อมะเร็ง เบนโซไพรีน 7.ควันบุหรี่มีสารก่อมะเร็งไนโตรซามีน 8.ควันบุหรี่เป็นสารก่อมะเร็งที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ 9.ควันบุหรี่มีสารกัมมันตรังสีโพโลเนียม 210 และ 10.ควันบุหรี่มีสารเสพติดนิโคติน โดยพิมพ์บนพื้นที่ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของพื้นที่บนซองบุหรี่ รวมทั้งต้องพิมพ์หมายเลขสายด่วนเลิกบุหรี่ 1600 ด้วย เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งบริการ เมื่อต้องการเลิกสูบบุหรี่ โดยได้ผ่อนผันให้ผู้ประกอบการขยายเวลาให้ผู้ประกอบการปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องตามกฎหมายภายในวันที่ 25 เมษายน 2555
          ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีมติให้สำนักงานควบคุมการบริโภคยาสูบแจ้งแก่ผู้ประกอบการ ผู้ผลิตหรือนำเข้าบุหรี่ ให้ปฏิบัติตามกฎหมายทั้ง 2 ฉบับอย่างเคร่งครัด โดยหากพบไม่ปฏิบัติตามกฎหมายจะมีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท
       ด้านนายแพทย์ชูฤทธิ์ เต็งไตรสรณ์ ผู้อำนวยการสำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กล่าวว่า จากรายงานผลการสำรวจการบริโภคยาสูบในผู้ใหญ่ระดับโลกในปี 2552 พบประชาชนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบ ทั้งชนิดมีควันและไร้ควันรวมทั้งสิ้น 14.3 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 27 ของประชากรกลุ่มนี้ ในจำนวนนี้เป็นผู้สูบชนิดมีควัน 12.5 ล้านคน โดยผู้สูบเป็นชายร้อยละ 46 หญิงร้อยละ 3 เป็นผู้สูบบุหรี่ที่ผลิตจากโรงงาน 5 ล้านคน สูบบุหรี่มวนเอง 4.5 ล้านคน และสูบทั้ง 2 ชนิด 2.9 ล้านคนและมีคนไทยที่เลิกสูบแล้ว 4.6 ล้านคน
     สำหรับวันงดสูบบุหรี่โลก 31 พฤษภาคม 2555 นี้ องค์การอนามัยโลก ได้กำหนดประเด็นในการรณรงค์ ว่า  Tobacco Industry Interference (การแทรกแซงของอุตสาหกรรมยาสูบ) และเน้นที่การตอบโต้เปิดโปง   กลลวงของอุตสาหกรรมยาสูบ เพื่อให้ผู้กำหนดนโยบาย และสาธารณชนได้รับรู้ข้อมูล เกิดความตื่นตัว รู้ทันกลยุทธ์ของอุตสาหกรรมยาสูบทุกรูปแบบ และมีมาตรการทางกฎหมายในการควบคุมกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR : Corporate Social Responsibility)ของอุตสาหกรรมยาสูบ
************************************** 19 มกราคม 2555


   
   


View 5       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ