ทั้งนี้ เนื้อสัตว์ปีกและไข่ที่ขายในท้องตลาดขณะนี้ ถือว่ามีความปลอดภัย บริโภคได้ตามปกติ แต่ควรปรุงให้สุกสนิท หรือกึ่งสุกกึ่งดิบ ส่วนผู้ที่มีหน้าที่ชำแหละ ควรใส่อุปกรณ์ป้องกันร่างกาย เช่น สวมถุงมือ ใส่ผ้ากันเปื้อนและผ้าปิดจมูก หลังเสร็จสิ้นจากการชำแหละสัตว์ปีกแล้ว ให้ล้างชำระสถานที่ชำแหละให้สะอาดด้วยน้ำและผงซักฟอก แล้วรีบอาบน้ำชำระร่างกายด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาด และเปลี่ยนเสื้อผ้าหลังเสร็จภารกิจ และซักล้างทำความสะอาดเสื้อผ้าชุดที่ใส่ปฏิบัติงานรวมทั้งผ้ากันเปื้อน ผ้าปิดปาก ปิดจมูก ถุงมือ ผึ่งกลางแดดให้แห้งสนิทก่อนนำไปใช้อีก
****************************** 20 มกราคม 2555
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศควบคุมป้องกันโรคไข้หวัดนกร่วมกับปศุสัตว์อย่างเข้มงวด โดยเฉพาะแนวชายแดนไทย-กัมพูชา หลังมีรายงานมีผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดนก 2 รายในกัมพูชา และเวียดนาม ย้ำเตือนชาวบ้าน ผู้ประกอบการอย่านำสัตว์ปีกที่กำลังป่วยมาเชือดขาย
จากกรณีที่มีรายงานข่าวในช่วงสัปดาห์นี้ พบผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดนก 3 ราย ที่ประเทศกัมพูชา เวียดนาม และอินโดนีเซีย โดยที่กัมพูชาเป็นเด็กวัย 2 ขวบ อยู่ในจังหวัดบันเตียเมียนเจย เสียชีวิต 18 มกราคม 2555 มีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกป่วยในหมู่บ้าน ส่วนที่เวียดนามเป็นชายวัย 18 ปี เป็นลูกจ้างในฟาร์มเลี้ยงเป็ดในจังหวัดเฮา เกียง เสียชีวิตเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2555 และอินโดนีเซีย เป็นเด็กหญิงวัย 5 ขวบ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2555 นั้น
ความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าว วันนี้ (20 มกราคม 2555) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมความปลอดภัยอาหาร ที่จำหน่ายที่ตลาดซอยเล่งบ้วยเอี้ย ย่านเยาวราช กทม. ในช่วงเทศกาลตรุษจีน พร้อมด้วยนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และดร.นายแพทย์สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย ว่า เรื่องโรคไข้หวัดนกนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความสำคัญและให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ดำเนินการเฝ้าระวังป้องกันทุกพื้นที่อย่างเต็มที่ติดต่อกันมานานกว่า 5 ปี ปีนี้ย่างเข้าปีที่ 6 โดยดำเนินงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ทุกจังหวัด ซึ่งไทยยังไม่พบผู้ป่วย และไม่พบสัตว์ปีกติดเชื้อไข้หวัดนก อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีรายงานผู้เสียชีวิตที่ประเทศเพื่อนบ้าน ได้เน้นย้ำสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดสระแก้ว ซึ่งอยู่ติดกับจังหวัดบันเตียเมียนเจยของกัมพูชา และจังหวัดชายแดนไทย-กัมพูชาอื่นๆ อีก 6 จังหวัด ให้เฝ้าระวังไข้หวัดนกอย่างเข้มงวด ทั้งในคนทั้งคนไทยและกัมพูชา และในสัตว์ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีการทำค้าขายระหว่างกัน โดยเฉพาะสัตว์ปีกและไข่ และให้ประชาสัมพันธ์ย้ำเตือนขอความร่วมมือประชาชนในการป้องกันโรคไข้หวัดนก ให้รับประทานเนื้อสัตว์ปีก รวมทั้งไข่ที่ผ่านการปรุงสุกด้วยความร้อน
นายวิทยากล่าวต่อว่า เนื่องจากขณะนี้อยู่ในช่วงเทศกาลตรุษจีน และนิยมซื้อสัตว์ปีกเป็นของเซ่นไหว้ ขอความร่วมมือผู้ประกอบการค้าสัตว์ปีก รวมทั้งชาวบ้าน อย่านำสัตว์ปีกที่กำลังป่วยหรือมีอาการผิดปกติมาเชือดจำหน่าย เนื่องจากหากสัตว์ปีกติดเชื้อไข้หวัดนก อาจทำให้โรคแพร่ระบาดของติดสู่คนได้ง่าย ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรืออสม. ทันที เพื่อทำการส่งตรวจวิเคราะห์เชื้อทางห้องปฏิบัติการ หากพบว่าติดเชื้อไข้หวัดนก จะได้ทำการควบคุมป้องกันได้อย่างทันท่วงที
ด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง ได้สำรองยาต้านไวรัสไว้ทุกแห่ง หากพบผู้ป่วยที่มีอาการน่าสงสัยว่าจะเป็นไข้หวัดนก โดยเฉพาะผู้ที่มีไข้ ไอ หรือโรคปวดบวม ให้ซักประวัติการสัมผัสสัตว์ปีกอย่างละเอียด เพื่อให้การดูแลตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข และส่งตัวอย่างผู้ป่วยตรวจที่ห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า ไข้หวัดนกเป็นโรคติดเชื้อไวรัสจากสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตายมาสู่คน โดยเชื้อไวรัสอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย และอุจจาระของสัตว์ปีก อาจติดมากับมือและเข้าสู่ร่างกายคนทางจมูกและตา สัตว์ปีกที่ติดเชื้อจะมีอาการป่วย สังเกตได้คือยืนหรือเดินไม่ปกติซูบผอม ไม่กินอาหาร ขนยุ่ง ขนร่วง ปริมาณไข่ลดลง ไอจาม หายใจลำบาก หน้าบวม หงอนและเหนียงบวม มีสีคล้ำ ถ่ายเหลวเป็นน้ำ ตายอย่างกระทันหัน คนสามารถติดเชื้อจากสัตว์โดยสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตายโดยตรง หรือสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากสัตว์ที่เป็นโรค เช่น มูล น้ำมูก น้ำตา น้ำลาย ของสัตว์ที่ป่วย