รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไทย-เวียดนาม  ลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือสาธารณสุข 3 เรื่องหลักได้แก่ การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งประเทศเวียดนามจะประกาศใช้ในปี 2557 และให้ไทยช่วยพัฒนาความพร้อมบุคลากร เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกระดับ ในการเฝ้าระวังและรับมือโรคติดต่ออุบัติใหม่ อาทิ โรคไข้หวัดนก โรคซาร์ส และการพัฒนาศักยภาพบริการของโรงพยาบาล

   วันนี้(26 มกราคม 2555) ที่โรงแรมเซนทาราแกรนด์ กทม. นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และแพทย์หญิงเหงียนถิ กิม เทียน (Dr.Nguyen Thi Kim Tien) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเวียดนาม ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ ระหว่างกระทรวงสาธารณสุขไทย และกระทรวงสาธารณสุขเวียดนาม   ว่าด้วยความร่วมมือสาธารณสุข ซึ่งเป็นการขยายความร่วมมือหลังจากที่ร่วมลงนามที่เมืองดานัง ประเทศเวียดนาม เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2547 โดยมีนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นสักขีพยาน

 

            
   สาระความร่วมมือดังกล่าว ประกอบด้วย 3 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในการพัฒนาศักยภาพในการวิจัยและบริหารระบบ 2.การแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับระบบบริการตามนโยบายหลักประกันสุขภาพและระบบการสนับสนุนทางการเงิน ซึ่งจะมีการจับคู่โรงพยาบาลเพื่อเรียนรู้ในโรงพยาบาล 2 คู่ ได้แก่ โรงพยาบาลราชวิถี กทม. กับโรงพยาบาลบาไหม (Bach Mai) ของเวียดนาม และสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กับโรงพยาบาลเด็กแห่งชาติของเวียดนาม เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ3.การพัฒนาศักยภาพของชาติในการเฝ้าระวังโรคและการรับมือต่อการระบาดโรคติดต่ออุบัติใหม่ เช่น โรคไข้หวัดนก โรคซาร์ส 

 

  นายวิทยากล่าวว่า ในการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งประเทศไทยได้ดำเนินงานครบปีที่ 10 ประสบผลสำเร็จเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งรัฐบาลชุดนี้มีนโยบายชัดเจนที่จะดำเนินการต่อเนื่องและพัฒนาคุณภาพบริการ สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น ทางประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามได้ประกาศกฎหมายจะใช้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเช่นกันภายใน พ.ศ.2557 โดยในระยะเตรียมการนี้ เวียดนามจะมีการพัฒนาระบบการเงินการคลัง งบค่าใช้จ่ายรายหัว ระบบการจ่ายเงินผู้ป่วยในแบบวินิจฉัยโรคร่วมหรือดีอาร์จี (Diagnosis Related Groups: DRG) เพื่อควบคุมคุณภาพบริการ และพัฒนาศักยภาพบุคลากรเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกระดับในประเทศ เพื่อให้มีความพร้อมในการจัดบริการแก่ประชาชน ซึ่งจะให้ไทยช่วยพัฒนาบุคลากรเหล่านี้ โดยมีการแลกเปลี่ยนความรู้และผู้เชี่ยวชาญด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การศึกษาดูงานของบุคลากรระหว่างกัน  

 

ทั้งนี้ มูลนิธิร็อคกี้ เฟลเลอร์ ได้สนับสนุนเงินให้ประเทศไทยจำนวน 16 ล้านบาท เพื่อเป็นศูนย์กลางฝึกอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ในเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แก่ประเทศทั่วโลกที่สนใจ และมีเป้าหมายจะจัดทำโครงการหลักประกันสุขภาพแก่ประชาชน โดยเฉพาะประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่นลาว กัมพูชา เวียดนาม จีน อินโดนีเซีย โดยประเทศไทยจะจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในระดับประเทศ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ซึ่งจะมีต่างประเทศเข้าร่วมประชุมด้วย เช่น เวียดนาม จีน ฟิลิปปินส์ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน

 

*******************************    26 มกราคม 2555


   
   


View 5       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ