กระทรวงสาธารณสุข ตั้งคณะกรรมการวิจัย ศึกษา รวบรวมข้อมูล เพื่อเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับระบบสาธารณสุขของไทย และกำหนด 7 มาตรการ รับมือปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสนับสนุนแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ.2553 – 2562
วันนี้ (10 กุมภาพันธ์ 2555) ที่โรงแรมริชมอนด์ นนทบุรี นายแพทย์อภิชัย มงคล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการสัมมนาวิชาการแก่บุคลากรกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ คณะกรรมการการศึกษาผลกระทบและการปรับตัวด้านสุขภาพอันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งประเทศไทย ตัวแทนจากมหาวิทยาลัย หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน จำนวน 50 คนเพื่อสนับสนุนการจัดทำข้อเสนอนโยบายด้านสุขภาพที่เกี่ยวเนื่องกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย
นายแพทย์อภิชัย กล่าวภายหลังว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก และภาวะโลกร้อน เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อประชากรโลกในทุกภูมิภาค ไม่ว่าจะอยู่ในภาคอุตสาหกรรม หรือเกษตรกรรม รวมทั้งเกิดผลกระทบด้านสุขภาพอนามัยของประชาชนทุกคน ประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยทางสภาพภูมิอากาศ ซึ่งนายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายในการพัฒนาระบบเฝ้าระวังเตือนภัย การจัดการที่มีประสิทธิผล ทันการณ์เมื่อเกิดภัยพิบัติ หรือมีโรคระบาดและภัยสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ รวมถึงการเตรียมรับมือกับผลกระทบที่เกิดจากภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลงด้วย
ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งคณะกรรมการศึกษาผลกระทบและการปรับตัวด้านสุขภาพอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งประเทศไทย 1 ชุด โดยมีนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานกรรมการ มีนายแพทย์วิชัย สติมัย ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค เป็นกรรมการและเลขานุการ โดยมีคณะกรรมการจากหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ หน่วยงานของกระทรวงสาธารสุขราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นต้น ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวมีหน้าที่ รวบรวมข้อมูล ศึกษา วิจัย ปัญหาสุขภาพ แสวงหาและประสานความร่วมมือกับองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งเสนอกลยุทธ์ในการแก้ไขปัญหาสุขภาพที่เกิดจากภาวะโลกร้อน
ด้านนายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมความพร้อมเกี่ยวกับระบบสาธารณสุขของไทย เพื่อสนับสนุนแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ.2553 – 2562 ทั้งหมด 7 มาตรการ ได้แก่ 1.ปรับระบบการเฝ้าระวังโรค โดยเฉพาะโรคติดต่อที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2.ปรับระบบบริการสุขภาพให้สามารถรองรับผู้ป่วยโรคจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ 3.สร้างระบบเฝ้าระวังในพื้นที่เสี่ยง 4.ประยุกต์ใช้ระบบข้อมูลภูมิศาสตร์สารสนเทศ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 5.สนับสนุนการวิจัยเพื่อการป้องกันและคุ้มครองด้านสุขภาพ 6.พัฒนาบุคลากรสาธารณสุขให้มีความรู้เกี่ยวกับมิติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น และ 7.รณรงค์ให้ประชาชนมีความเข้าใจปัญหาด้านสุขภาพที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง
การสัมมนาวิชาการในครั้งนี้เป็นความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ เพื่อรวบรวมองค์ความรู้ ผลกระทบต่อสุขภาพที่เกี่ยวเนื่องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย และนำมาจัดทำข้อเสนอนโยบายด้านสุขภาพที่เกี่ยวเนื่องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและนำไปสู่การปฏิบัติต่อไป *********** 10 กุมภาพันธ์ 2555