คนไทยขึ้นชื่อดื่มเหล้ากลั่นมากอันดับ 5  ของโลก   ค่าเฉลี่ยดื่มคนไทยสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก 9 เท่าตัว

วันนี้ (13 กุมภาพันธ์ 2555) ที่ศูนย์ประชุมอิมแพคเมืองทองธานี นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายเดเร็ค รูเทอร์ฟอร์ด ( Mr. Derek Rutherford ) ประธานกรรมการเครือข่ายแอลกอฮอล์ระดับโลก(GAPA) นายแพทย์อลา อัลแวน ผู้ช่วยผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกด้านโรคไม่ติดต่อและสุขภาพจิต ( Dr. Ala Alwan:Assistant Director-GeneralNon communicable Diseases and Mental HealthWHO) เปิดประชุมนโยบายแอลกอฮอล์ระดับโลก (Global Alcohol Policy Conference : GAPC) ภายใต้หัวข้อ “จากแผนยุทธศาสตร์ระดับโลกสู่การปฏิบัติระดับชาติและท้องถิ่น”ซึ่งเป็นการจัดประชุมครั้งแรกของโลกที่ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 13-15กุมภาพันธ์ 2555  มีนักวิชาการ ตัวแทนภาคประชาชน ภาคสาธารณสุข ภาครัฐ นักรณรงค์ และสื่อมวลชนจาก 59 ประเทศทั่วโลก เข้าร่วมประชุมกว่า 1,200 คน
นายวิทยากล่าวว่า การประชุมครั้งนี้นับเป็นความพยายามครั้งสำคัญ ในการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ ปัญหาการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามแนวทางของแผนยุทธศาสตร์ระดับโลก เพื่อลดปัญหาและอันตรายจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (Global Strategy to Reduce Harmful Use of Alcohol endorsed) หรือที่คนไทยเรียกติดว่า น้ำเมาของทุกประเทศทั่วโลก ให้ลดน้อยลง สร้างสังคมโลกที่ปลอดภัยจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

                                  

          ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุมีประชากรทั่วโลกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประมาณ 2,000 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรโลก เฉลี่ยดื่มคนละ 6.13 ลิตร ซึ่งการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นอันตรายและเป็นสาเหตุให้เกิดโรคในประชากรทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนามากกว่า 60 โรค เช่น เป็นสาเหตุเกิดโรคตับแข็งสูงถึงร้อยละ 20-50 โรคติดต่อที่สำคัญ เช่น การเชื้อเอชไอวี/โรคเอดส์ วัณโรค   รวมทั้งโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอาทิ เบาหวาน โรคหัวใจ โดยมีรายงานผู้เสียชีวิตจากการดื่มเครื่องดื่มชนิดนี้ปีละ 2,500,000 คน   

 สำหรับไทย พบว่าคนไทยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นอันดับที่ 40 ของโลก  โดยเฉพาะเหล้ากลั่นดื่มมากเป็นอันดับ 5ของโลก โดยมีผู้ที่อายุ15ปีขึ้นไปดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 16.2ล้านคน  เฉลี่ยดื่มคนละ 58ลิตรต่อปี สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก 9 เท่าตัว  ซึ่งแอลกอฮอล์เป็นต้นเหตุการณ์เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรถึงร้อยละ 90  โดยมีผู้เสียชีวิต 26,000 คนต่อปี ส่วนใหญ่เป็นเยาวชน ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจปีละไม่ต่ำกว่า 150,000 ล้านบาท ซึ่งประเทศไทยมีประสบการณ์และความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 12 ฉบับ เช่น กฎหมายจำกัดสถานที่-เวลาดื่ม อายุผู้ซื้อ   ล่าสุดคือพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 และไทยพร้อมร่วมผลักดันให้มีมาตรการควบคุมแอลกอฮอล์ระดับโลกอย่างเป็นรูปธรรม

  การประชุมครั้งนี้ ประกอบด้วยการบรรยายและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการ จากวิทยากรที่มีชื่อเสียงระดับโลกทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศมีหัวข้อการนำเสนอซึ่งเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญในฐานะเป็นแผนยุทธศาสตร์ระดับโลกตลอดทั้ง 3วัน ได้แก่ 1.อันตรายที่เกี่ยวข้องกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  ทั้งตัวผู้ดื่ม เศรษฐกิจ และสังคม ฯลฯ 2.โอกาส ศักยภาพ และความร่วมมือในการจัดการปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในด้านต่างๆ เช่น การนำยุทธศาสตร์แอลกอฮอล์ระดับโลกไปปฏิบัติ การผลักดันการจัดการปัญหาการบริโภค 

  เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นนโยบายทางการเมือง บทบาทของภาคประชาสังคมในแก้ไขปัญหาระดับพื้นที่และระดับชาติ เป็นต้น และ 3.แนวทางการจัดการปัญหาแอลกอฮอล์เช่น ปัญหาการดื่มแล้วขับ นโยบายแอลกอฮอล์และการเปิดเสรีของระบบตลาด การรักษาผู้ติดเหล้า การเข้าถึงระบบการบริการด้านสุขภาพ

  
                                
นอกจากนี้ ยังจัดกิจกรรม 3 รูปแบบ ระหว่างการประชุม ได้แก่ 1. การศึกษาดูงาน การป้องกันและการควบคุมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย 6 แห่งคือ1.ชุมชนสันติอโศก เป็นชุมชนปลอดเหล้าและวิถีแนวพุทธ 2.ชุมชน หลังไปรษณีย์สำเหร่ เป็นชุมชนลดเลิกเหล้า คนต้นแบบเลิกเหล้า 3.ตลาดน้ำคลองลัดมะยม รูปแบบที่พ่อค้าแม่ค้ารวมใจปฏิบัติตามกฎหมาย 4.โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ศึกษาการบำบัดรักษาผู้ติดสุรา กิจกรรมกลุ่มนิรนาม 5.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศึกษาฐานข้อมูลการเรียนรู้เกี่ยวกับแอลกอฮอล์ระดับจังหวัด และ6.บริษัทเอเชีย พรีซีชั่น จำกัดบริษัทต้นแบบพนักงานปลอดเหล้า เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งด้านวิชาการและประสบการณ์ในด้านนโยบายแอลกอฮอล์

 2.การจัดลานกิจกรรมการแสดงของเยาวชน เช่น ละครต้านเหล้า หมอลำกลอนปลอดเหล้า การจัดแสดงวัฒนธรรมปลอดเหล้า เช่น บุญสงกรานต์ บุญบั้งไฟ งานแข่งเรือ งานลอยกระทง และ 3.การเสวนาของผู้ที่มีประสบการณ์การรณรงค์ทางวัฒนธรรม (Culture campaign)  ในเรื่องวิธีการรับมือกับทุนอุปถัมภ์ของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  ความพยายามการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมให้ยากต่อการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และประการสำคัญจะมีการร่วมประกาศปฏิญญาในการสนับสนุนการนำยุทธศาสตร์โลกในการจัดการปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปสู่ปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

 ******************************** 13 กุมภาพันธ์ 2555



   
   


View 9       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ