วันนี้ (1 มีนาคม 2555) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กทม. นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และดร.นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดประชุมผู้บริหารและผู้รับผิดชอบงานป้องกันโรคไข้หวัดนกในพื้นที่เสี่ยง และพื้นที่จังหวัดชายแดน รวม 43 จังหวัด จำนวนกว่า 300 คน เพื่อเร่งรัดการเตรียมความพร้อมป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดนกหรือเชื้อไวรัสเอช 5 เอ็น 1 (H5N1) ในพื้นที่ในปี 2555 นี้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความมั่นใจต่อความปลอดภัยด้านสุขภาพของประชาชนพร้อมมอบโล่เกียรติยศบุคคลที่มีผลงานในด้านการป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดนกยอดเยี่ยมระดับชาติ 3 ท่าน คือศ.เกียรติคุณ นายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ และที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุขศ.นายแพทย์สุชัย เจริญรัตนกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายสัตวแพทย์ยุคล ลิ้มแหลมทองอดีตปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

  นายวิทยากล่าวว่า ขณะนี้การระบาดของโรคไข้หวัดนกที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศเพื่อนบ้านของไทยมีความถี่ขึ้น ในปี 2555 ตั้งแต่ 1 มกราคม – 24 กุมภาพันธ์ องค์การอนามัยโลกรายงานพบเชื้อไข้หวัดนกในสัตว์ปีก 8 ประเทศ ได้แก่ บังคลาเทศ ภูฏาน เขตปกครองพิเศษฮ่องกง อินเดีย อิหร่าน เนปาล เวียดนาม และแอฟริกาใต้ และมีรายงานพบผู้ป่วยไข้หวัดนกในคน 8 ราย เสียชีวิต 6 ราย ใน 5 ประเทศ ได้แก่ อียิปต์ จีน เวียดนาม อินโดนีเซีย และกัมพูชา
สำหรับประเทศไทย ไม่พบผู้ป่วยไข้หวัดนกรายใหม่เป็นเวลากว่า 5 ปี หลังจากที่พบผู้ป่วยรายสุดท้ายเมื่อปี 2549 และไม่พบสัตว์ปีกติดเชื้อเป็นเวลามากกว่า 3ปี แสดงให้เห็นว่าบุคลากรและระบบงานป้องกันควบคุมโรคทั้งในคนและสัตว์ปีกของประเทศไทยได้ผลดี เป็นตัวอย่างแก่ประเทศต่างๆอย่างไรก็ตามประเทศไทยมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดโรคในสัตว์ปีก และมีความเสี่ยงการเกิดโรคในคนเนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านยังมีไข้หวัดนกระบาดในสัตว์ปีก ดังนั้นจึงต้องเร่งรัดมาตรการทั้งการเฝ้าระวังโรคในสัตว์ปีกและในคน เพื่อรักษาความเข้มแข็งไม่ให้มีการระบาดในประเทศ และเตรียมความพร้อมในการควบคุมโรคที่อาจเกิดขึ้น  
 โดยกำชับให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด มิสเตอร์ไข้หวัดนก ผู้อำนวยการโรงพยาบาล สาธารณสุขอำเภอ ผู้อำนวยการ รพ.สต. เจ้าหน้าที่สาธารณสุขรวมทั้งอสม.ทั้ง 19 จังหวัด เร่งรัดดำเนินการตามนโยบาย 6 ข้อ ดังนี้ 1.เฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก หากพบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ ต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ทันที2.ร่วมมือเฝ้าระวังและควบคุมโรคไข้หวัดนก โดยประสานความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ เจ้าหน้าที่กรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อเฝ้าระวังโรคในสัตว์ปีกและนกธรรมชาติ ดูแลการนำเข้าสัตว์ปีกในบริเวณชายแดน แนะนำการเลี้ยงสัตว์ปีกอย่างปลอดภัยในชุมชน หากพบการระบาดในสัตว์ ให้รีบแจ้งเตือนโรงพยาบาลในพื้นที่ให้เตรียมพร้อมการดูแลผู้ป่วยทันที
3.แจ้งเตือนประชาชนระวังภัยไข้หวัดนก ได้รับทราบข้อมูลอย่างทั่วถึง ทั้งการป้องกันการติดเชื้อจากสัตว์ปีก และการป้องกันสัตว์ปีกให้ปลอดภัยจากไข้หวัดนก 4.เพิ่มการตรวจจับการระบาด โดยเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ   เมื่อพบผู้ป่วยปอดบวมร่วมกับมีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกหรือปอดบวม เสียชีวิตไม่ทราบสาเหตุ 5.ให้
    
             รีบสอบสวนโรค โดยทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วหรือเอสอาร์อาร์ที (SRRT) เมื่อพบหรือได้รับรายงานว่าพบผู้ป่วยที่สงสัยว่าเป็นไข้หวัดนก และ6.ดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่ได้มาตรฐาน โดยเผยแพร่ข้อมูลความรู้และแนวทางปฏิบัติในการคัดกรองและการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกให้แพทย์ทั้งภาครัฐและเอกชนภายในพื้นที่ทราบอย่างทั่วถึง และสั่งการให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
ด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ผลการเฝ้าระวังเชื้อไวรัสไข้หวัดนกในประเทศไทยจนถึงขณะนี้ ยังไม่พบการกลายพันธุ์ แต่อย่างไรก็ตามเชื้อไวรัสนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมอยู่เสมอตามธรรมชาติจึงมีโอกาสกลายพันธุ์ และมีสัตว์ปีกเป็นตัวแพร่เชื้อจึงยังคงมีความเสี่ยงต่อการเกิดระบาดใหญ่อยู่ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้สำรองยาต้านไวรัส 2 ชนิดในโรงพยาบาลทุกแห่ง เพื่อดูแลรักษาผู้ป่วย คือยาโอเซลทามิเวียร์และยาซานามิเวียร์ ซึ่งยานี้ยังใช้รักษาได้ผลดี โดยไทยพบผู้ป่วยไข้หวัดนกระหว่างเดือนมกราคม 2547 ถึงเดือนกรกฎาคม 2549 รวม 25คน เสียชีวิต 17คน ขณะที่สถานการณ์ทั่วโลก ตั้งแต่พ.ศ. 2546-24 กุมภาพันธ์ 2555   พบผู้ป่วยไข้หวัดนก 587 ราย เสียชีวิต 345 ราย 
   ด้านดร.นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การป้องกันควบคุมไข้หวัดนก เป็นงานที่ต้องทำควบคู่กันทั้งในคนและในสัตว์อย่างต่อเนื่อง ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ เอกชน ประชาชน รวมทั้งนานาประเทศ ขณะนี้ประเทศไทยดำเนินงานภายใต้กรอบแผนยุทธศาสตร์โรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ พ.ศ. 2555-2559 โดยเน้นการพัฒนาระบบเฝ้าระวัง ป้องกัน การรักษาและควบคุมโรคแบบบูรณาการ  (One health) และจัดการระบบการเลี้ยงสัตว์ให้ปลอดโรค
สำหรับผู้เข้าร่วมประชุมรวม 43 จังหวัด เป็นจังหัวดจากพื้นที่เสี่ยง 19 จังหวัดครั้งนี้ ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี ลพบุรี อุทัยธานี พิจิตร กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ ปราจีนบุรี นครนายก กาญจนบุรี นครราชสีมา ชัยภูมิ ขอนแก่น และหนองบัวลำภู และจังหวัดที่ติดกับประเทศลาว พม่า กัมพูชา 24 จังหวัด ประกอบด้วย แม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ ตาก ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง พะเยา น่าน พิษณุโลก เลย หนองคาย มุกดาหาร นครพนม อำนาจเจริญ อุบลราชธานี บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ สระแก้ว จันทบุรี และตราด
 ******************************************** 1 มีนาคม 2555
 
 
 
 
 
 
 
 
 

 



   
   


View 12    01/03/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ