“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 130 View
- อ่านต่อ
วันนี้ (1 มีนาคม 2555) ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เดินทางไปติดตามสถานการณ์หมอกควันและฝุ่นละอองใน 8 จังหวัดภาคเหนือ และประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด 8 จังหวัด อธิบดีกรมอนามัย กรมควบคุมมลพิษ กรมควบคุมโรค ผู้ตรวจราชการ นายแพทย์สาธารณสุข 8 จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจ.เชียงใหม่ 15 หน่วยงาน อาทิ องค์การบริหารส่วนจังหวัด สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 ศูนย์อนามัยที่ 10 ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นต้น เพื่อวางมาตรการแก้ไขและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน จากนั้นเดินทางไปจุดตรวจวัดอากาศของกรมควบคุมมลพิษ ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ และที่สนามกีฬาองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน
นายแพทย์สุรวิทย์ กล่าวว่า จากรายงานการเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน ใน 4 กลุ่มโรคที่มีโอกาสเจ็บป่วยสูงจากฝุ่นละออง คือกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดทุกชนิด กลุ่มโรคทางเดินหายใจทุกชนิด กลุ่มโรคตาอักเสบ และกลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ หลังจากเกิดปัญหาหมอกควันใน 8 จังหวัดภาคเหนือคือเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน พะเยา ลำพูน แพร่ น่าน และลำปาง ได้เก็บข้อมูลการเจ็บป่วยของประชาชนที่เข้ารักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาล 81 แห่งที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวทุกสัปดาห์ จนถึงล่าสุดเมื่อช่วงวันที่ 19-25 กุมภาพันธ์ 2555 พบว่าผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษามากอันดับ 1 ได้แก่ กลุ่มโรคทางเดินหายใจทุกชนิดจำนวน 23,718 ราย อัตราป่วย 458 คนต่อแสนประชากร สูงสุดที่จังหวัดลำพูน อัตราป่วย 792 คนต่อแสนประชากร
อันดับ 2 คือกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด มีผู้ป่วย 21,244 ราย อัตราป่วย 419 คนต่อแสนประชากร สูงสุดที่จังหวัดลำพูน 889 คนต่อแสนประชากร อันดับ 3 คือ กลุ่มโรคตาอักเสบ มีผู้ป่วย 1,573 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 34 คนต่อแสนประชากร สูงสุดที่จังหวัดพะเยา 50 คนต่อแสนประชากร และอันดับ 4 คือกลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ มีผู้ป่วยจำนวน 2,043 ราย อัตราป่วย 42 คนต่อแสนประชากร สูงสุดที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน 74 คนต่อแสนประชากร จังหวัดที่เผชิญปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอนเกินมาตรฐานคือ 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตั้งแต่ 1 มกราคม – 29 กุมภาพันธ์ นานที่สุดคืออำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย 13 วัน รองลงมาคือพะเยา 12 วัน แพร่และลำพูนจังหวัดละ 11 วัน ลำปาง 7-9 วัน เชียงใหม่ 2-4 วัน น่าน 7 วัน และแม่ฮ่องสอน 4 วัน
นายแพทย์สุรวิทย์ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ขณะนี้ได้สำรองหน้ากากอนามัยไว้ที่สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 เชียงใหม่อีก 300,000 ชิ้น เพื่อจัดส่งให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด แจกจ่ายให้ประชาชนในภาวะฉุกเฉิน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ หอบหืด ถุงลมโป่งพอง เป็นต้น และจะเร่งดำเนินควบคุมป้องกันปัญหาโดยเร็ว โดยประสานการทำงานร่วมกับกรมควบคุมมลพิษและการทำฝนหลวงอย่างใกล้ชิด เพื่อลดปริมาณฝุ่นละออง ขณะเดียวกันจะประสานประเทศเพื่อนบ้านเพื่อลดการเผาป่า พร้อมสั่งการให้ อสม. เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เป็นเครือข่ายในการควบคุมป้องกันการเผาป่า เผาวัชพืช ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ และให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เตรียมพร้อมการอพยพชาวบ้าน หากจำเป็นและสถานการณ์รุนแรงขึ้น
ทั้งนี้สถานการณ์ปริมาณฝุ่นขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน ในวันที่ 1 มีนาคม 2555 เวลา 09.00 น. กรมควบคุมมลพิษได้ตรวจวัดทั้งหมด 10 จังหวัด พบสูงเกินมาตรฐานคือ 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน น่าน แพร่ พะเยา และตาก สูงสุดที่สำนักงานสาธารณสุขอำเภอแม่สาย จ.เชียงราย วัดได้ 305.6 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร รองลงมาคือที่สถานีอุตินิยมวิทยาแม่สอด อ.แม่สอด จ.ตาก 295.2 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และอุทยานการเรียนรู้กว๊านพะเยา อ.เมือง จ.พะเยา 243.1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
******************1 มีนาคม 2555