นำผู้เสพ      ผู้ติดยา เข้ารับการบำบัดด้วยหลักศาสนาและวิถีชีวิตคนภาคใต้  ตั้งเป้าปีนี้กว่า 2 หมื่นคน
บ่ายวันนี้ (2 มีนาคม 2555 ) ที่สนามกีฬาโรงเรียนบ้านสายควน ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอสีเกา จังหวัดตรัง นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงานการแข่งขันมหกรรมกีฬา อบต.สัมพันธ์ ต้านยาเสพติด ครั้งที่ 9 ประจำปี 2555 เพื่อส่งเสริมกีฬาต้านยาเสพติด ตามนโยบายเร่งด่วนแก้ไขปัญหายาเสพติดของรัฐบาล โดยผู้เข้าร่วมแข่งขัน ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่จากองค์กรปกครองส่วน ประชาชนและเยาวชน จากอำเภอสิเกาและอำเภอวังวิเศษ จังหวัดตรัง ประมาณ 1,000 คน
นายวิทยากล่าวว่า รัฐบาลได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขทำหน้าที่บำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ได้ขยายบริการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดสารเสพติดไปยังโรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศ สำหรับพื้นที่จังหวัดภาคใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาการแพร่ระบาดยาเสพติดอยู่ในเกณฑ์สูงของประเทศ กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เปิดศูนย์บำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด 1 อำเภอ 1 มัสยิด ศูนย์ส่องทางชีวิตใหม่  ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ใช้มัสยิดเป็นศูนย์บำบัดฟื้นฟูยาเสพติด โดยใช้หลักศาสนาและวิถีชีวิตของประชาชนในจังหวัดภาคใต้ เพื่อให้ผู้เสพยาเสพติดได้เข้าสู่กระบวนการบำบัดมากยิ่งขึ้น และมีโรงพยาบาลชุมชนเป็นพี่เลี้ยง ในปี 2555 นี้ ตั้งเป้านำผู้ติดสารเสพติดที่อยู่ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ เข้ารับการบำบัดรักษาให้ได้กว่า 2 หมื่นคน และจะติดตามผลการบำบัดรักษาต่อเนื่องไปอีก 1 ปี ซึ่งจะมีระบบการประสานความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ที่ได้รับการบำบัดรักษาแล้วจะไม่กลับไปติดสารเสพติดซ้ำอีก 
สำหรับการดำเนินงานเพื่อใช้มัสยิดเป็นศูนย์บำบัดฟื้นฟูยาเสพติดมี 4 ขั้นตอน ประกอบด้วย 1.จัดอบรมวิทยากรผู้นำศาสนา เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกอำเภอในพื้นที่ ให้มีความรู้และทักษะด้านยาเสพติด 2.อบรมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เชี่ยวชาญด้านยาเสพติดจำนวน 3,000 คน เพื่อทำหน้าที่ติดตามดูแลผู้ที่ผ่านการบำบัดรักษาแล้วในชุมชน 3.สร้างความเข้มแข็งให้บุคลากร กลุ่มเยาวชน กลุ่มเสี่ยงป้องกันการใช้สารเสพติดในภาคใต้  โดยจัดหลักสูตรให้ความรู้แก่เยาวชน ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เพิ่มพูนทักษะให้รู้เท่าทันยาเสพติด 4.ใช้หลักศาสนบำบัด โดยให้ผู้นำทางศาสนา ใช้หลักศาสนา เฝ้าระวัง ป้องกัน และการรักษา โดยในทุกวันศุกร์ ซึ่งเป็นวันละหมาดใหญ่ตามหลักศาสนาอิสลาม ใช้เป็นเวทีเฝ้าระวัง ซึ่งจะมีกระจายอยู่ในทุกมัสยิดด้วย
ทั้งนี้ สถิติการบำบัดในช่วงปีงบประมาณ 2550-2554 มีผู้เข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติดใน 7 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ สงขลา สตูล ตรัง พัทลุง ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ทั้งหมด 25,758 คน ร้อยละ 73 เป็นชาวมุสลิม โดยอยู่ในกลุ่มอายุ 7-17 ปีมากที่สุดร้อยละ 58 รองลงมาคือกลุ่มอายุ 18-25 ปีร้อยละ 34 ส่วนยาเสพติดที่ใช้มากอันดับ 1 คือกัญชาร้อยละ 46 รองลงมาคือยาบ้าร้อยละ 33 และอื่นๆ เช่น กระท่อม สี่คูณร้อย ร้อยละ 18 อาชีพส่วนใหญ่ ว่างงานร้อยละ 45  รับจ้างร้อยละ 38  เป็นนักเรียน นักศึกษาร้อยละ 17       
*****************************   2 มีนาคม 2555


   
   


View 14    02/03/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ