วันนี้ (9 มีนาคม 2555) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กทม. นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมและพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ 6หน่วยงาน เพื่อกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศไทย ได้แก่ 1.กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข 2.กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 3.กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย 4.สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย 5.สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และ6.สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดประเทศไทย พร้อมทั้งมอบรางวัลแก่อบต.และเทศบาลที่มีผลการดำเนินงานควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าดีเด่น ทั้งรางวัลชนะเลิศ รองชนะเลิศ และชมเชย รวม 17 รางวัล
นายแพทย์สุรวิทย์กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังพบทั้งคนและสัตว์ป่วยเป็นโรคพิษสุนัขบ้า และมีผู้เสียชีวิตทุกปี โรคนี้เป็นโรคร้ายแรงหากติดเชื้อจนมีอาการแล้วต้องเสียชีวิตทุกราย โดยแต่ละปีมีผู้ถูกสุนัขกัดไม่ต่ำกว่า 1ล้านราย ในจำนวนนี้ประมาณครึ่งหนึ่งมารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรค คิดเป็นค่าใช้จ่าย 1,000 ล้านบาท และยังทำให้เสียภาพลักษณ์ของประเทศกระทบต่อการท่องเที่ยวอีกด้วย กระทรวงสาธารณสุข จึงเร่งสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าในเขตชนบทและเขตเมืองทั่วประเทศ ตั้งเป้าครบ100เปอร์เซนต์ ภายในปี 2558ในปี 2555นี้จะดำเนินการในอบต.และเทศบาลร้อยละ 20 เพื่อกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศไทย ภายในปี 2563ตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การควบคุมโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) กำหนดเป้าหมายไว้
นายแพทย์สุรวิทย์กล่าวต่อว่า โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่รุนแรง เมื่อป่วยแล้วไม่มียารักษา จะเสียชีวิตทุกราย แต่โรคนี้ป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนในสัตว์เลี้ยง และในคนหลังถูกสุนัขกัด แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ทั่วโลกประมาณ 55,000 ราย โดยร้อยละ 95 เกิดในทวีปอัฟริกา อเมริกาใต้ และในเอเชีย ส่วนใหญ่ถูกสุนัขบ้ากัดหรือข่วน ในประเทศไทยแม้ว่าแนวโน้มผู้เสียชีวิตจะลงลงมาก แต่ยังพบทุกปี โดยเมื่อพ.ศ. 2523 หรือประมาณ 30 ปีที่แล้ว มี 370 ราย ลดลงเหลือ 8 รายในปี 2554 และล่าสุดในปี 2555 นี้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 1 รายที่จังหวัดระยองเป็นหญิงอายุ 39 ปี ถูกลูกสุนัขที่เลี้ยงไว้กัดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2554 ไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกัน และเสียชีวิตในวันที่ 30 มกราคม 2555
ในการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้สำเร็จ ทุกหน่วยงานต้องร่วมมือกัน โดยเฉพาะในอบต.และเทศบาล ซึ่งดูแลพื้นที่เขตชนบทและเขตเมือง เป็นหลักในการดำเนินการ ร่วมกับสาธารณสุขและปศุสัตว์ หลักการสำคัญที่ได้ผลคือต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัขตั้งแต่อายุ 3 เดือนขึ้นไปทุกตัวครอบคลุมไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80ของสุนัขที่มีในหมู่บ้าน มีการควบคุมจำนวนสุนัขโดยการขึ้นทะเบียนการเลี้ยงทุกหลังคาเรือน และทำหมัน โดยเฉพาะสุนัขจรจัด โดยให้อสม.ร่วมกับอาสาสมัครปศุสัตว์ สำรวจจำนวนสุนัขในหมู่บ้าน ขึ้นทะเบียนสุนัขทุกตัว และแนะนำให้เจ้าของนำสุนัขไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคทุกปี
ขณะเดียวกันให้ดูแลคนและให้คำแนะนำหากถูกสุนัขกัด ถูกเล็บข่วน หรือถูกเลียบริเวณที่มีบาดแผล ขอให้รีบล้างแผล ใส่ยา กักหมาและไปพบแพทย์ทุกคน ถ้าสุนัขปกติดี ฉีดวัคซีนเป็นประจำ ให้กักสุนัขดูอาการ 10วัน ถ้าสุนัขตายให้สงสัยว่าจะเป็นโรคพิษสุนัขบ้า ให้ตัดหัวสุนัขแช่น้ำแข็งแล้วส่งไปที่ปศุสัตว์อำเภอหรือปศุสัตว์จังหวัดเพื่อนำไปตรวจชันสูตรที่ห้องปฏิบัติการต่อไป ถ้าอยู่ในกรุงเทพฯ ให้ส่งตรวจที่สถานเสาวภา สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ บางเขน ถ้าพบเชื้อพิษสุนัขบ้าในหัวสุนัขที่ส่งตรวจ ให้ผู้ถูกกัดหรือถูกข่วน รีบไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ในกรณีที่ไม่สามารถกักสุนัขไว้ดูอาการได้ ก็ต้องรีบฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเช่นกัน
ด้านดร.นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัจจุบันในกรุงเทพมหานครพบโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ทุกเดือน และพบว่าผู้ที่เลี้ยงสุนัขและแมวในกทม.นำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนเพียงร้อยละ 60 ที่ผ่านมาพบว่าผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าร้อยละ 70 ติดเชื้อมาจากสัตว์เลี้ยงของตนเอง โดยไม่รู้ว่าสัตว์ดังกล่าวติดเชื้อพิษสุนัขบ้า ทำให้ผู้เสี้ยงเสี่ยงป่วยเป็นโรคพิษสุนัขบ้าจากสัตว์เลี้ยงสูงมาก นับว่าเป็นพื้นที่ที่ต้องเร่งรัดกำจัดโรคในสัตว์ นอกจากนี้การนำสัตว์ที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้าไปที่อื่นก็สามารถแพร่เชื้อโรคนี้ไปได้ไกล เช่น ปี พ.ศ. 2551 พบเด็กเสียชีวิตที่จังหวัดเลย ถูกลูกสุนัขที่ญาตินำมากจากซอยลาซาน กทม.กัด แล้วไม่ได้ไปหาหมอ จึงป่วยเป็นโรคพิษสุนัขบ้า และเสียชีวิตเมื่อเดือนมกราคม 2551 และเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2554 ที่ผ่านมาพบหญิงวัย 41ปี อาศัยอยู่ซอยลาซาน 49 บางนา กทม. ถูกแมวของตนเองกัดและชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าเช่นกัน จากการซักประวัติผู้ที่เสียชีวิตจากโรคนี้ส่วนใหญ่มักไม่ไปพบแพทย์ เพราะเห็นว่าบาดแผลเล็กน้อย หรือสุนัขที่กัดเป็นลูกสุนัข หรือเป็นสุนัขที่มีเจ้าของ ปล่อยไว้จนมีอาการป่วย ซึ่งไม่สามารถรักษาให้หายได้ และเสียชีวิตในที่สุด
ผลการประเมินพื้นที่ในปี 2554พบว่ามี 31จังหวัด ที่ไม่มีผู้เสียชีวิตและไม่มีสัตว์เป็นโรคพิษสุนัขบ้าในรอบ 2ปีที่ผ่านมา ได้แก่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน พะเยา แพร่ น่าน พิจิตร สุโขทัย กำแพงเพชร อุตรดิตถ์ นครพนม หนองคาย มหาสารคาม เลย ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด หนองบัวลำภู อุดรธานี กาฬสินธุ์ สิงห์บุรี อ่างทอง ชัยนาท กระบี่ ภูเก็ต ยะลา ระนอง พังงา ชุมพร นราธิวาส และสตูล
สำหรับความร่วมมือตามบันทึกข้อตกลงครั้งนี้ หน่วยงานทั้ง 6 จะร่วมมือกันทั้งด้านนโยบายและการปฏิบัติงาน ระดมทรัพยากรมาใช้ร่วมกันเพื่อให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากที่สุด และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคทั้งในคนและสัตว์ให้ปลอดภัยจากโรคนี้ โดยกรมควบคุมโรคจะสนับสนุน ด้านวิชาการ และบุคลากรในการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในคน ส่วนกรมปศุสัตว์ดูแลป้องกันในสัตว์ และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจะสนับสนุนให้อบจ.อบต.เทศบาล ดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่ ตามแผนยุทธศาสตร์ของประเทศในการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปภายในปี 2563ซึ่งจะเสริมความแข็งแกร่ง สร้างความมั่นใจแก่หน่วยงานต่างๆ นำไปสู่ความสำเร็จในการทำให้ประเทศไทยปลอดโรคพิษสุนัขบ้าในไม่ช้า
*********************************** 9 มีนาคม 2555