รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเผยปัจจุบันคนไทยกินยาสูงถึงปีละ 47,000 ล้านเม็ด เฉลี่ยวันละ 128 ล้านเม็ด ยาที่ใช้มากอันดับ 1 คือยาปฏิชีวนะ ส่วนใหญ่ใช้เกินขนาด อาจทำให้เชื้อดื้อยา เร่งหามาตรการสร้าง  แรงจูงใจในการลดการใช้ยาของประชาชน  และรณรงค์ให้ประชาชนดูแลสุขภาพไม่ให้เจ็บป่วย

          วันนี้ (14 มีนาคม 2555) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลัง ประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายจากการใช้ยา เพิ่มขึ้นจาก 36,506 ล้านบาท  ในปี 2543 เป็น 98,375 ล้านบาทในปี 2551 โดยมีอัตราเพิ่มเฉลี่ยร้อยละ 15 ต่อปี ซึ่งค่าใช้จ่ายด้านยาของ ประเทศไทยคิดเป็นร้อยละ 46.7 ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศ ซึ่งสูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วกว่า 2 เท่าตัว และมีแนวโน้มนำเข้ายาจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากร้อยละ 46 เป็นร้อยละ 65 ในช่วงเดียวกัน

นายวิทยา กล่าวต่อว่า จากการศึกษาของกรมการแพทย์ พบว่า ในปี 2553 คนไทยบริโภคยาทั้งยา แผนปัจจุบันและแผนโบราณที่ผลิตเองและนำเข้าปีละประมาณ 47,000 ล้านเม็ด หรือเฉลี่ยวันละ 128 ล้านเม็ด โดยมีผู้ป่วยซื้อยากินเองร้อยละ 15 ของผู้ป่วยทั้งหมด จากการสำรวจสุขภาพคนไทย ปี 2550 2552 พบว่า คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปกินยาแก้ปวดทุกวัน ร้อยละ 2.3 กินยานอนหลับเป็นประจำ ร้อยละ 3.3 กินยาลูกกลอน เป็นประจำร้อยละ 2.1 และกินยาลดความอ้วน ร้อยละ 1.1 ซึ่งยาที่คนไทยใช้มากเป็นอันดับ 1 คือยาปฏิชีวนะใช้ ถึงร้อยละ 20 ของยาทั้งหมด ซึ่งบ่อยครั้งเป็นการ ใช้ยาเกินขนาดเป็นสาเหตุที่ทำให้ เชื้อดื้อยาเพิ่มมากขึ้น และเป็นการสะสมอาจทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้

นายวิทยา กล่าวต่อว่า ในการแก้ไขปัญหาที่กล่าวมา กระทรวงสาธารณสุขจะมีการรณรงค์ให้ลดการใช้ยา โดยจะมีมาตรการให้ประชาชนบริโภคยาตามความจำเป็น ตามคำแนะนำของแพทย์ ซึ่งในปีงบประมาณ 2556   รัฐบาลจะเร่งรัดในมาตรการลดการใช้ยา เน้นที่การดูแลสุขภาพ ป้องกันไม่ให้ป่วย เช่น เน้นเรื่องของอาหารสุขภาพ และการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ พร้อมทั้งสร้างแรงจูงใจในการลดการใช้ยา เช่น ให้ประชาชนเอายาที่เหลือใช้ ยา หมดอายุ หรือยาที่ไม่มีประโยชน์มาแลกกับไข่ เพื่อช่วยให้คนไทยบริโภคยาตามความจำเป็น และจะมีมาตรการ จูงใจอื่นๆมาช่วยด้วย ได้มอบหมายให้กรมการแพทย์ดำเนินการ

นายวิทยา กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุขยังมีโครงการ 1 หมอ 1 ตำบล ใกล้บ้าน ใกล้ใจ โดยให้แต่ละตำบลมีแพทย์ประจำในการให้คำปรึกษาการดูแลสุขภาพ การใช้ยา โดยใช้ระบบออนไลน์ และให้ อสม. เข้าไปคัดกรองเบาหวานความดันอีกด้วย

ทางด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ผลจากการศึกษาพฤติกรรมที่ไม่  เหมาะสมของการใช้ยา ได้แก่ 1.ปรับขนาดยาเองตามใจชอบอาจเกิดอันตราย เนื่องจากบางโรค เช่น เบาหวาน ต้อง กินอย่างต่อเนื่อง หรือยาบางชนิดที่ต้องกินให้หมดตามแพทย์สั่ง เช่นยาปฏิชีวนะ 2.นำยาคนอื่นมาใช้ด้วยความ เอื้อเฟื้อจากเพื่อนบ้านหรือคนในบ้านเดียวกัน 3.เก็บยาไม่ถูกต้องทำให้ยาเสื่อมหมดอายุ 4.ไม่ดูวันหมดอายุเวลา ซื้อยา 5.รับการรักษาจากหลายสถานพยาบาล 6.เชื่อว่าการใช้ยาดีกว่าการป้องกันการเกิดโรค                

         .................      14 มีนาคม 2555



   
   


View 19    14/03/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ