กระทรวงสาธารณสุข เผยผลการตรวจโรคเบาหวานในคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปในปีที่ผ่านมา พบผู้ป่วยเบาหวานมีโรคแทรกเพิ่มมากถึง 2 แสนกว่าราย ในจำนวนนี้มีปัญหาจอประสาทตาผิดปกติมากที่สุด เสี่ยงตาบอดถึง 6 หมื่นกว่าราย หรือ พบได้ 1ใน 5 ของผู้ป่วย เร่งป้องกัน โดยเปิดคลินิกโรคเบาหวานในโรงพยาบาลกว่า 10,000 คลินิก เพื่อตรวจคัดกรอง และส่งพบจักษุแพทย์ที่โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป 98 แห่ง รักษาก่อนสายเกินแก้

                  วันนี้ (16 มีนาคม 2555 ) ที่โรงแรมริชมอนด์ นนทบุรี นายแพทย์โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข    เปิดประชุมจักษุแพทย์ประจำโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปทั่วประเทศ รวมทั้งในโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ ในกทม. และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ดูแลปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังทุกจังหวัด เพื่อพัฒนาระบบการจัดการภาวะโรคแทรกซ้อนทางตา ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ป้องกันตาบอด

                 นายแพทย์โสภณกล่าวว่า ขณะนี้โรคเบาหวาน กำลังเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศไทยที่รุนแรงขึ้น ก่อนหน้านี้พบมากในผู้สูงอายุ แต่ขณะนี้พบได้ในวัยเด็ก วัยรุ่น วัยแรงงาน โรคนี้หากดูแลปฏิบัติตัวไม่เป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข จะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมาได้ง่าย เนื่องจากโรคดังกล่าวมีผลต่อหลอดเลือดฝอยไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆในร่างกาย ทำให้ตีบตัน อวัยวะที่มักจะเกิดปัญหาตามมาในผู้ป่วยเบาหวาน ที่พบบ่อย 3 อวัยวะ คือ ไต ตา และเท้า ทำให้ไตวาย ตาบอด และเท้าเป็นแผลเรื้อรังจนถึงขั้นต้องตัดขาทิ้ง   
 
ผลการตรวจคัดกรองทั่วประเทศในปีที่ผ่านมา พบประชาชนป่วยเป็นโรคเบาหวานรายใหม่ โดยไม่รู้ตัวมาก่อน 1 ล้าน 2 แสนกว่าราย   ในจำนวนนี้พบว่ามีโรคแทรกซ้อนด้วยจำนวน 222,185 ราย โดยเป็นโรคแทรกซ้อนทางตามากที่สุด ที่ชาวบ้านเรียกว่าเบาหวานขึ้นตา ทำให้สูญเสียการมองเห็น รวมจำนวน 62,123 ราย คิดเป็นร้อยละ 23  ของผู้ป่วย กล่าวได้ว่าในผู้ป่วยโรคเบาหวานทุก 5 คน จะพบมีปัญหาการมองเห็นได้ 1 คน และโดยทั่วไป ผู้ป่วยโรคเบาหวาน มีโอกาสเสี่ยงตาบอดสูงกว่าคนปกติทั่วไปถึง 25 เท่าตัว หากไม่มีระบบการดูแลป้องกันโรคแทรกซ้อนทางสายตาในผู้ป่วยกลุ่มนี้ในแต่ละจังหวัด จะทำให้คนไทยมีปัญหาตาบอดมากขึ้น และจะเป็นภาระแก่ครอบครัวและประเทศในระยะยาว 
 
นายแพทย์โสภณกล่าวต่อว่า ในการควบคุมแก้ไขปัญหาโรคแทรกซ้อนทางสายตาดังกล่าว ในปีนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้จัดระบบการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน   เริ่มตั้งแต่โครงการตรวจคัดกรองหาผู้ป่วยรายใหม่ในประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไปทั่วประเทศที่มีประมาณ 54 ล้านคนทุกพื้นที่ เพื่อดูแลรักษาอย่างถูกวิธี    จัดคลินิกให้บริการตรวจรักษาและติดตามผลในโรงพยาบาลทุกระดับจำนวนกว่า 10,000  แห่ง ทั่วประเทศกระจายถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลหรือรพ.สต.   และมีการตรวจเช็คสายตา ตรวจความผิดปกติการมองเห็นทุกปี   หากพบผิดปกติ จะส่งตัวผู้ป่วย พบจักษุแพทย์ที่มีประจำโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป จำนวน 98 แห่งทั่วประเทศ และมีเครื่องมือรักษาที่ทันสมัย จะสามารถให้การดูแลรักษา ป้องกันตาบอดได้ตั้งแต่เนิ่นๆ    โดยผู้ป่วยจะได้รับการดูแลรักษา โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด   มั่นใจว่าการดำเนินการแก้ไขป้องกันเป็นเครือข่าย จะลดปัญหาตาบอดจากเบาหวานขึ้นตาได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50    
                                                                                                               ******16 มี.ค. 2555
                                                  


   
   


View 18    16/03/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ