นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อน ตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ไปถึงกลางเดือนพฤษภาคม โดยเฉพาะเดือนเมษายนแสงแดดจะแรง อากาศร้อนจัด และมีความชื้นสัมพัทธ์สูง ทำให้เหงื่อไม่สามารถระเหย และพาความร้อนออกจากร่างกายได้ เสี่ยงเป็นโรคลมแดด อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด และโรงพยาบาลทุกแห่ง ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนในการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการเสียชีวิต โดยอยู่ในบ้านหรือในตัวอาคารที่มีร่มเงา และดื่มน้ำมากๆ เพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำของร่างกาย โดยเฉพาะในช่วงกลางวันจนถึง16.00 น. ซึ่งเป็นช่วงที่อุณหภูมิอากาศสูงที่สุด ด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในช่วงหน้าร้อนนี้ ประชาชนอาจได้รับความร้อนมากจนเกินไปและเกิดภาวะขาดน้ำ เสี่ยงต่อการป่วย 4 โรคหลักๆ ได้แก่ 1.โรคลมแดดหรือฮีสโตรก (Heat Stroke) 2.โรคเพลียแดด (Heat Exhaustion) 3.โรคตะคริวแดด (Heat Cramps) และ4.ผิวหนังไหม้แดด (Sunburn) ซึ่งอาการแต่ละโรคเกิดขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ และระยะเวลาที่ต้องอยู่ท่ามกลางแสงแดด โรคที่รุนแรงที่สุดและเสี่ยงเสียชีวิตคือ โรคลมแดด ซึ่งเป็นอาการที่เกิดจากการได้รับความร้อนมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังหรือเล่นกีฬาในภาวะอากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน ทำให้สมองไม่ทำงาน ไม่สามารถควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ รวมทั้งสูญเสียความสามารถในการควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย ทำให้อุณหภูมิของร่างกายเพิ่มสูงขึ้นผิดปกติเกิน 40 องศาเซลเซียส ถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องให้การรักษาอย่างรีบด่วนเนื่องจากมีโอกาสเสียชีวิตได้ แม้ในผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง อาการสำคัญโรคดังกล่าว ได้แก่ ตัวร้อนจัด แต่ไม่มีเหงื่อออก เพ้อหรือหมดสติ ชีพจรเต้นเร็ว ช็อค ผิวหนังแห้งและร้อน ระดับความรู้สึกตัวลดลง การทำงานของอวัยวะต่างๆ ล้มเหลว กระสับกระส่าย เอะอะ ก้าวร้าว หมดสติ เกร็ง ชัก โดยกลไกการทำงานของร่างกายหลังจากที่ได้รับความร้อน จะมีการปรับตัว โดยส่งน้ำหรือเลือดไปเลี้ยงอวัยวะภายใน ทำให้ผิวหนังขาดเลือดและน้ำไปหล่อเลี้ยง จึงไม่สามารถระบายความร้อนออกจากร่างกายได้ ส่งผลให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ การช่วยเหลือผู้ที่มีอาการเป็นลมแดด ให้นำผู้ที่มีอาการเข้าในที่ร่ม ให้นอนราบ ยกเท้าทั้งสองข้างให้สูงเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงที่สมอง คลายเสื้อผ้าออก ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกตัว คอ รักแร้ ขาหนีบ ศีรษะ ร่วมกับการใช้พัดลมช่วยเป่าระบายความร้อน หรือเทน้ำเย็นราดลงบนตัว เพื่อลดอุณหภูมิของร่างกายให้ต่ำลงโดยเร็ว และรีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาโดยเร็วที่สุด ไม่เช่นนั้นอาจเสียชีวิตได้ ในรายที่อาการยังไม่มากควรให้ดื่มน้ำเปล่าธรรมดามากๆ นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงเกิดโรคลมแดด มี 6 กลุ่ม ได้แก่ 1.เด็ก 2.ผู้สูงอายุ เนื่องจากระบบการควบคุมอุณภูมิของร่างกายไม่สมบูรณ์เท่าวัยหนุ่มสาว 3.ผู้ที่เป็นโรคอ้วนหรือมีน้ำหนักตัวมาก 4.ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่นความดันโลหิตสูงที่ต้องกินยาขับปัสสาวะเพื่อขับน้ำและสารโซเดียมออกจากร่างกาย 5.ผู้ที่ต้องทำงานหรือออกกำลังกายกลางแจ้งเป็นเวลานานๆ และ6.ผู้ที่ดื่มสุราหรือเบียร์ในขณะที่มีสภาพอากาศร้อน จะปัสสาวะบ่อยเพื่อขับแอลกอฮอล์ออกจากร่างกาย ทำให้เสียน้ำและเกลือแร่ตามไปด้วย นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อไปว่า วิธีการปรับสภาพร่างกายเพื่อป้องกันอันตรายจากอากาศร้อน ที่สำคัญที่สุดคือ ต้องดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ โดยดื่มน้ำ 1-2 ลิตรต่อวัน สวมเสื้อผ้าที่มีสีอ่อน ไม่หนา น้ำหนักเบา และระบายความร้อนได้ดี หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดในวันที่อากาศร้อนจัด หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาเสพติดทุกชนิด ที่ต้องสนใจเป็นพิเศษคือเด็กเล็กหรือคนชราที่ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยควรให้อยู่ในสถานที่ที่ระบายอากาศได้ดี และอย่าเพิกเฉยต่อความรู้สึกร้อนหรือเหนื่อยเกินไปของเด็กและคนชรา “สิ่งที่ควรระวัง คือพ่อแม่ที่ปล่อยลูกไว้ในรถแล้วไปซื้อของ อาจเปิดเครื่องยนต์เปิดแอร์ไว้ แต่หากเครื่องยนต์ดับในชั่วเวลาไม่นาน อุณหภูมิภายในรถจะสูงขึ้น ยิ่งหากอุณหภูมิภายนอกสูงเช่นในเวลากลางวัน ความร้อนจะยิ่งทวีคูณอย่างรวดเร็ว อุณหภูมิภายในรถอาจเพิ่มขึ้นถึง 51 องศาเซลเซียสได้ภายในเวลาเพียง 20 นาที ซึ่งในเด็กอุณหภูมิภายในร่างกายจะปรับตัวต่อสู้กับสิ่งแวดล้อมได้ไม่ดีเท่าผู้ใหญ่ จะทำให้อุณหภูมิในร่างกายจะสูงเร็วกว่าผู้ใหญ่ถึงเกือบ 5 เท่าตัว” นายแพทย์ไพจิตร์กล่าว ทั้งนี้ การสังเกตว่าร่างกายได้รับน้ำเพียงพอหรือไม่ สามารถสังเกตง่ายๆ จากสีของปัสสาวะ ถ้าปัสสาวะมีสีเหลืองจางๆ แสดงว่าได้รับน้ำเพียงพอ แต่ถ้าปัสสาวะสีเหลืองเข้มและปัสสาวะออกน้อย แสดงว่าได้รับน้ำไม่เพียงพอ จะต้องดื่มน้ำให้มากๆ ******************************* 17 มีนาคม 2555


   
   


View 13    17/03/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ