ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุดรธานี แจงผลการตรวจสอบยาแก้ไข้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดรีน คลังยาย้อนหลัง 3 ปี พบว่ามียอดถูกยักยอกจำนวนทั้งสิ้น 4,868,964 เม็ด มิใช่ 37,603,500 เม็ดตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด โดยในปี 2553 ยอดสั่งซื้อจำนวน 1,958,000 เม็ด ปี 2554 สั่งซื้อ 1,754,000 เม็ด ได้ส่งหลักฐานข้อเท็จจริงให้ตำรวจและดีเอสไอแล้ว เพื่อให้ตรงกัน ตามที่สื่อมวลชนได้นำเสนอข่าวรายงานเรื่องความคืบหน้าคดียาแก้ไข้หวัดสูตรผสมสูตรซูโดอีเฟดรีน จาก รพ.อุดรธานี ซึ่งได้ตรวจสอบการสั่งซื้อสั่งจ่าย ยาซูโดอีเฟดรีนย้อนหลัง 3 ปี แล้วพบว่าหายไปทั้งสิ้น 37,603,500 เม็ด โดยในปี 2553 มียอดสั่งซื้อ 19,580,000 เม็ด และในปี 2554 สั่งซื้อ 17,540,000 เม็ด นั้น ความคืบหน้าในเรื่องนี้ วันนี้ ( 17 มีนาคม 2555 ) นายแพทย์พิชาติ ดลเฉลิมยุทธนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุดรธานี ให้สัมภาษณ์ว่า ข้อมูลการตรวจสอบยาแก้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนตามที่ปรากฏในข่าวนั้นมีความคลาดเคลื่อน จากยอดการสั่งซื้อจริงของโรงพยาบาลอุดรธานี ตามหลักฐานที่ตรวจสอบย้อนหลัง 3 ปี เป็นอันมาก โดยในปี 2553 พบการสั่งซื้อยาดังกล่าวจำนวน 1,958,000 เม็ด ในปี 2554 จำนวน 1,754,000 เม็ด ในปี 2555 สั่งซื้อจำนวน 1,099,000 เม็ด ซึ่งข้อมูลที่ปรากฏในสื่อมวลชน น่าจะเกิดจากความคลาดเคลื่อนในการรวมตัวเลขจากการให้ข่าวเป็น 19,580,000 เม็ด ในปี 2553 และ 17,540,000 เม็ดในปี 2554 ตามลำดับ ทำให้มียอดการซื้อและสรุปยอดหายรวม เกินจากความจริงไปมาก นายแพทย์พิชาติ กล่าวต่อว่า จากข้อมูลการตรวจสอบ ณ ปัจจุบัน โดยใช้หลักฐานต่างๆย้อนหลัง 3 ปี ไปจนถึงปี 2553 โรงพยาบาลอุดรธานี พบว่าข้อมูลการยักยอกยาแก้หวัดสูตรซูโดอีเฟดรีน แบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ การนำยาออกไปโดยไม่ลงทะเบียนรับจำนวน 4,306,800 เม็ด และการทำหลักฐานการจ่ายเท็จ โดยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลหรือ รพ.สต.ไม่ได้รับยา 562,164 เม็ด รวมจำนวนที่ถูกยักยอกทั้งสิ้น 4,868,964 เม็ด ซึ่งข้อมูลที่กล่าวมานี้ ได้รายงานผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุขและนายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขทราบแล้ว ขณะเดียวกันโรงพยาบาลอุดรธานี จะประสานกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายทั้งตำรวจและดีเอสไอ เพื่อให้ข้อมูลตรงกับความเป็นจริง ทั้งนี้ ขอชี้แจงว่า เมื่อเริ่มมีข่าวเกี่ยวกับการใช้ยาแก้ไข้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดรีน เป็นสารตั้งต้นการผลิตยาเสพติด กลุ่มงานเภสัชกรรม ของโรงพยาบาลอุดรธานี ได้ทำการทบทวนและตรวจสอบความผิดปกติ จนพบปัญหาเรื่องการทำหลักฐานการจ่ายเท็จจำนวน 140,000 เม็ด จนนำไปสู่การแจ้งความดำเนินคดีและการตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงกับผู้กระทำผิด และมีการขยายผลการสอบสวนโดยทีมงานของโรงพยาบาลทั้งแพทย์ เภสัชกรและพยาบาล ระดมกำลังค้นหาหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ย้อนหลัง 3 ปี จนพบว่ามีการยักยอกเพิ่มเติมดังกล่าว ********************************** 17 มีนาคม 2555


   
   


View 17    17/03/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ