วันนี้ (21 มีนาคม 2555) ที่โรงแรมรามาการ์เด้นท์ กรุงเทพฯ นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการดำเนินการแก้ไขปัญหาการลักลอบนำยาแก้ไข้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนออกจากโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ว่าได้ให้สอบวินัยร้ายแรง เจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องแล้ว 2 คน และเรียกเข้ามาช่วยราชการที่ส่วนกลางแล้ว  

นายวิทยากล่าวว่า ในส่วนของโรงพยาบาล 30 แห่ง ได้รับผลการสอบสวนแล้วในวันนี้ และได้ตั้งกรรมการการสอบสวนขอเท็จจริง หากผลสอบสรุปออกมาว่าเจ้าหน้าที่กระทำผิด ก็เรียกเข้ามาที่ส่วนกลาง ส่วนทางคดีอาญาฝ่ายตำรวจจะดำเนินการต่อไป โดยขณะนี้ได้กำชับผู้ว่าราชการจังหวัด เรียกประชุมคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือนระดับจังหวัด หรือ อ.ก.พ.จังหวัด ให้ดำเนินการวินัยขั้นเด็ดขาดกับเจ้าหน้าที่ผู้กระทำความผิด ที่ผลสอบเรียบร้อยแล้ว ก็ดำเนินการต่อไป  
          นายวิทยากล่าวอีกว่า  กระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการตามที่รัฐบาลมีมาตรการเร่งรัด เรื่องยาที่ใช้เป็นสารตั้งต้น และการปราบปรามยาเสพติด และได้ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรืออย. ออกประกาศห้ามขายแก้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนจากร้านขายยาย่อย ให้จำหน่ายได้ในโรงพยาบาลเท่านั้น โดยให้จำหน่ายตามใบสั่งของแพทย์ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งมาตรการในลักษณะนี้ได้ผลดีขึ้น แต่หากไม่ทำก็จะยิ่งแย่กว่าเดิม
          สำหรับกรณีของการรั่วไหลของยาแก้หวัดสูตรซูโดอีเฟดรีนออกจากโรงพยาบาลในสังกัดจะเป็นคดีพิเศษของดีเอสไอหรือไม่นั้น นายวิทยากล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องการจัดการปัญหาภายในองค์กร ถ้าพบผู้กระทำผิดตามผลสอบของคณะกรรมการ และเมื่อมีการดำเนินการด้านวินัยของข้าราชการ หรือดำเนินคดีตามกฎหมายแล้ว ก็จบ     ส่วนคดีพิเศษของดีเอสไอ ควรเป็นคดีที่ค่อนข้างจะต่อเนื่องหรือมีความสลับซับซ้อน ส่วนรายงานเพิ่มเติมอื่นๆก็กำลังอยู่ในขั้นตอนการตั้งคณะกรรมการสอบ
          ทางด้านนายแพทย์ธวัชชัย กมลธรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ประจำเขต 3 กล่าวว่า จากกรณีที่มีข่าวว่า มียาแก้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนรั่วไหลออกจากรพ.ในจังหวัดปราจีนบุรี 2 แห่ง คือรพ.กบินทร์บุรี และรพ.อภัยภูเบศร์นั้น ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด   โดยหลักฐานข้อมูลจำนวนการสั่งซื้อยาดังกล่าวของรพ.ทั้ง 2 แห่งหลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรืออย. ได้ลงไปตรวจสอบแล้ว พบว่าตรงกับที่ได้รับการแจ้งจากบริษัทยา แต่จำนวนเดือนที่รายงานไม่ตรงกัน โดยรพ.รายงานเป็นรายไตรมาส แต่ของอย.เป็นตัวเลขรายงานย้อนหลัง 1 ปี จึงทำให้ดูเหมือนว่าจำนวนยาที่สั่งซื้อจากบริษัทที่แจ้งต่อ อย.สูงกว่าที่รพ.ใช้จริง เพราะฉะนั้นข้อมูลของรพ.ที่มีขณะนี้ เป็นข้อมูลที่เป็นความจริง และถูกต้อง ไม่ได้ใช้มากกว่าปกติแต่อย่างใด และยืนยันว่าระบบข้อมูลการควบคุมการสั่งใช้ยาดังกล่าวของรพ.ทั้ง 2 แห่งนี้ อยู่ในระดับดีมาก สามารถตรวจสอบย้อนถึงชื่อผู้ใช้ จำนวนยาที่สั่งจ่าย และโรคที่ผู้ป่วยเป็นด้วย
**************************       21 มีนาคม 2555

 



   
   


View 13    21/03/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ