วันนี้ (21 มีนาคม 2555) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายลดโรค เพิ่มสุข สาธารณสุขร่วมใจเทิดไท้องค์ราชันว่า ในปี 2555 นี้ มีนโยบายให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และกรมที่เกี่ยวข้อง ร่วมบูรณาการแผนงานโครงการแก้ปัญหาสุขภาพ 4 กลุ่มเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยทางกาย และอาจส่งผลถึงจิตใจ นำไปสู่ภาวะซึมเศร้าและการฆ่าตัวตาย ได้แก่ เด็กตั้งแต่แรกเกิด-10 ปี สตรีวัยรุ่น ผู้สูงอายุ และผู้พิการ โดยให้สถานบริการสาธารณสุขในสังกัดทุกแห่งพัฒนาคุณภาพบริการ เน้นการส่งเสริมสุขภาพ ลดการเจ็บป่วยและเพิ่มความสุขขณะมาใช้บริการ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมทั้งประสานดำเนินงานกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
นายวิทยากล่าวว่า ที่ประชุมได้เสนอให้เพิ่มโครงการแก้ไขปัญหาอีก 2 กลุ่ม คือกลุ่มแม่และเด็ก เพื่อให้เด็กได้รับการดูแลตั้งแต่อยู่ในครรภ์ และกลุ่มวัยทำงาน อายุ 20 -59 ปี เนื่องจากเป็นกลุ่มที่เป็นกำลังในการพัฒนาประเทศ และมีปัญหาสุขภาพหลายเรื่องเช่นการติดสารเสพติด ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ความเครียด โดยให้ตั้งคณะทำงานรับผิดชอบในแต่ละกลุ่มอายุแล้ว
ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้อำนวยการสำนักงานบริหารยุทธศาสตร์สุขภาพดีวิถีชีวิตไทย กล่าวว่า ในการดำเนินการตามโครงการลดโรค เพิ่มสุขฯ นั้น จะแบ่งตามกลุ่มอายุ คือ 1.กลุ่มเด็กแรกเกิด-12 ปี เด็กในชนบทจะมีปัญหาขาดสารอาหาร ทำให้ผอมและเตี้ย ส่วนเด็กในเมืองมีปัญหาโรคอ้วน จะดำเนินโครงการสำคัญอาทิ จ่ายยาน้ำวิตามินเสริมธาติเหล็กให้รพ.สต.ทุกแห่ง จัดค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ การตรวจสุขภาพและพัฒนาการเด็กในคลินิกเด็กดีในโรงพยาบาลทุกแห่ง รณรงค์ตรวจคัดกรองพัฒนาการเด็กอายุ 9 เดือนหรือ 1 ปีจนถึงอายุ 3-5 ปี รายที่ผิดปกติจะได้รับการแก้ไขกระตุ้นพัฒนาการ ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อระดับไอคิว อีคิว 2.กลุ่มสตรีวัยรุ่น อายุ 12 ปี – 20 ปี ปัญหาที่พบส่วนใหญ่เป็นเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ขณะนี้ได้เปิดคลินิกวัยรุ่นในโรงพยาบาลครบทุกแห่ง มีศูนย์พึ่งได้ดูแลเด็ก สตรี ผู้สูงอายุที่ถูกกระทำรุนแรง โครงการเพื่อนช่วยเพื่อน โครงการ ไอดอล ต้นแบบวัยรุ่นในเด็กนักเรียน และรณรงค์ถุงยางอนามัย 100 เปอร์เซนต์
3.กลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งมีโอกาสเจ็บป่วยมากกว่าช่วงอายุอื่นถึง 4 เท่า ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัวอย่างน้อย 1 โรค จะมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากรพ.สต. ดูแลสุขภาพกายและจิตถึงบ้าน ให้อสม.คัดกรองภาวะซึมเศร้าและภาวะสมองเสื่อม เพื่อดูแลอย่างเหมาะสม มีเบอร์โทรเจ้าหน้าที่รพ.สต.ไว้ที่บ้านกรณีต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน และมีบริการ 1669 รับ-ส่งจากบ้านไปโรงพยาบาล ส่วนในโรงพยาบาลให้จัดบริการ 70 ปีไม่มีคิว ให้บริการผู้สูงอายุก่อนวัยอื่น และจัดคลินิคผู้สูงอายุ ให้คำปรึกษาสุขภาพ ตรวจสุขภาพ ส่วนในโรงพยาบาลใหญ่ให้จัดบริการตรวจรักษาโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ และ4.กลุ่มผู้พิการ ซึ่งมีประมาณ 2 ล้านคน แนวโน้มเพิ่มขึ้นปีละ 1 แสนคนจากโรคเรื้อรังและอุบัติเหตุ ให้รพ.สต.จัดบริการเชิงรุกถึงบ้าน ให้สถานบริการสาธารณสุขทุกแห่ง จัดสิ่งอำนวยความสะดวกเช่นห้องน้ำ ทางลาด จุดจอดรถ มีคลินิกผู้พิการ หรือช่องทางพิเศษให้บริการผู้พิการก่อน และให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้พิการ
****************** 21 มีนาคม 2555
View 14
21/03/2555
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ