รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบนโยบายให้บอร์ดองค์การเภสัชกรรมชุดใหม่ เร่งพัฒนามาตรฐานโรงงานผลิตยาให้ได้มาตรฐานจีเอ็มพีขององค์การอนามัยโลกโดยเร็วที่สุด เพื่อสามารถส่งยาจำหน่ายในกองทุนโลกเพื่อแก้ไขเอดส์ มาลาเรีย และวัณโรคได้ และให้เร่งพัฒนาความเชี่ยวชาญบุคลากรให้มีศักยภาพการวิจัย สามารถสกัดสารสำคัญจากสมุนไพร เพื่อพัฒนาเป็นยาเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติมากขึ้น รวมทั้งพัฒนาการผลิตวัคซีน น้ำเกลือ น้ำยาล้างไต ใช้ในภาวะฉุกเฉินเพียงพอ
บ่ายวันนี้ ( 27 มีนาคม 2555) ที่องค์การเภสัชกรรม กทม. นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประชุมและมอบนโยบายการดำเนินงานขององค์การเภสัชกรรมให้แก่คณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมชุดใหม่จำนวน 10 คน ที่แต่งตั้งเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2555 ประกอบด้วย 1.นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต 2.เภสัชกรวีรวรรณ แตงแก้ว 3.นางอัจฉรา ไวความดี 4.นายกายสิทธิ์ พิศวงปราการ 5.นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ 6.นายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี 7.นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา 8.นายแพทย์เรวัติ วิศรุตเวช 9.นายช.นันท์ เพ็ชญไพศิษฐ์ ผู้แทนกระทรวงการคลัง โดยมีนายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา เป็นประธาน และนายแพทย์วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมเป็นกรรมการและเลขานุการ
นายวิทยากล่าวว่า นโยบายที่มอบให้คณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมดำเนินการในวันนี้ โดยให้องค์การเภสัชกรรม ร่วมสนับสนุนการจัดหายาให้แก่ 3กองทุนสุขภาพภาครัฐได้แก่ กองทุนประกันสังคม กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และกองทุนสวัสดิการข้าราชการ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงยาตามนโยบายของรัฐบาล และใช้ยาดีตรงกับโรค ลดการใช้ยาเกินจำเป็น ให้เร่งพัฒนาความเชี่ยวชาญบุคลากร ในการวิจัยและพัฒนายาจากสมุนไพรไทย ให้ก้าวไกลเหมือนกับประเทศจีน โดยให้มีศักยภาพสามารถสกัดสารสำคัญจากสมุนไพร เพื่อผลิตเป็นตัวยาสำเร็จรูปหรือเป็นตัวยาใหม่ เพื่อที่จะบรรจุเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติให้มากขึ้น ขณะนี้มีรายการยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติแล้ว 70 รายการ วิธีการดังกล่าวจะสามารถลดการนำเข้ายาแผนปัจจุบันในระยะยาวได้
นายวิทยากล่าวต่อว่า ประการสำคัญที่สุด ที่อยากเห็นโดยเร็วที่สุดคือให้เร่งพัฒนามาตรฐานโรงงานผลิตยาขององค์การฯ ให้ได้ตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก ซึ่งจะทำให้ยาขององค์การฯ สามารถส่งจำหน่ายเพื่อนำไปใช้รักษาโรคผู้ป่วยที่อยู่ในโครงการของกองทุนโลก (Global Fund) เพื่อการแก้ไขโรคเอดส์ มาลาเรียและวัณโรคทั่วโลกได้ หรือโอกาสการสร้างธุรกิจในต่างประเทศได้ด้วย รวมทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
นอกจากนี้ให้เร่งรัดโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนขององค์การเภสัชกรรมให้แล้วเสร็จและสามารถเดินเครื่องการผลิตวัคซีนได้ เช่นวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันไข้หวัดนก รวมทั้งวัคซีนอื่นเพื่อการสร้างสุขภาพป้องกันโรคแก่ประชาชนไทย รวมทั้งให้องค์การเภสัชกรรมเตรียมการเพื่อรองรับภาวะวิกฤติ โดยเฉพาะ การผลิตน้ำเกลือใช้ในโรงพยาบาลและน้ำยาล้างไตผู้ป่วยไตวายให้เพียงพอ และให้วางแผนช่องทางระบบการจัดส่ง กระจายยาและเวชภัณฑ์ไม่ให้เกิดปัญหาขาดแคลนยาทุกพื้นที่ และยังให้องค์การเภสัชกรรมเป็นศูนย์กลางในการผลิต จัดหา ยากำพร้า ที่ยังมีความจำเป็นต้องใช้ ซึ่งยาชนิดนี้ไม่มีผู้ผลิตหรือจำหน่ายในประเทศ เพื่อให้ประชาชนที่เจ็บป่วยทุกโรคมียารักษา ทั้งหมดนี้มั่นใจว่าองค์การเภสัชกรรมสามารถทำได้ นายวิทยากล่าว
*************** 27 มีนาคม 2555