นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  ให้สัมภาษณ์หลังการประชุม อ.ก.พ. กระทรวงสาธารณสุข ว่าได้รายงานที่ประชุมฯเกี่ยวกับความคืบหน้าของการดำเนินการ กรณียาซูโดอีเฟดรีน มีข้าราชการ มีส่วนเกี่ยวข้อง และได้ดำเนินการทางวินัย   ดังนี้

           1. การตรวจสอบข้อมูล
                   จากการตรวจสอบข้อมูลการสั่งซื้อยาแก้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนของโรงพยาบาลรัฐ พบว่ามีปัญหาจำนวน 8 แห่ง ดังนี้
                    (1.) โรงพยาบาลอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี
                    (2.) โรงพยาบาลทองแสนขัน จังหวัดอุตรดิตถ์
                   (3.) โรงพยาบาลกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์
                    (4.) โรงพยาบาลฮอด จังหวัดเชียงใหม่
                    (5.) โรงพยาบาลดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่
                    (6.) โรงพยาบาลภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ
             (7.) โรงพยาบาลหนองกี่ จังหวัดบุรีรัมย์
                    (8.) โรงพยาบาลเสริมงาม จังหวัดลำปาง
               2. การดำเนินการของกระทรวงสาธารณสุข
                  2.1 มีคำสั่งระงับการสั่งซื้อและสั่งจ่ายยาแก้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนแล้ว
                  2.2 แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนทางวินัย ข้าราชการของโรงพยาบาลผู้ที่มีส่วนที่เกี่ยวข้อง จำนวน 7 แห่ง และสั่งให้ไปปฏิบัติราชการที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขดังนี้
                       (1.) กรณีโรงพยาบาลอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงแก่ นายสมชาย แซ่โค้ว ตำแหน่งเภสัชกรชำนาญการ และแจ้งความดำเนินคดีอาญาแล้ว ขณะนี้นายสมชาย แซ่โค้ว ได้ละทิ้งหน้าที่ราชการไปแล้ว และสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ด้วย  
                       (2.) กรณีโรงพยาบาลทองแสนขัน จังหวัดอุตรดิตถ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงแก่ ข้าราชการ 1 ราย และแจ้งความดำเนินคดีอาญาแล้ว และกระทรวงสาธารณสุขได้มีคำสั่งให้ ข้าราชการ 2 ราย ไปปฏิบัติราชการที่ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
                    (3) กรณีโรงพยาบาลกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ กระทรวงสาธารณสุขได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงแก่ข้าราชการ 2 ราย วินัยไม่ร้ายแรง 4 ราย แจ้งความดำเนินคดีอาญา และมีคำสั่งให้ ข้าราชการ 3 ราย ไปปฏิบัติราชการที่ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขแล้ว
                    (4.) กรณีโรงพยาบาลฮอด จังหวัดเชียงใหม่ กระทรวงสาธารณสุขได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงแก่ข้าราชการ 2 ราย และวินัยไม่ร้ายแรง 1 ราย และกระทรวงสาธารณสุขได้มีคำสั่งให้ ข้าราชการ 3 ราย ไปปฏิบัติราชการที่ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขแล้ว
                  (5) กรณีโรงพยาบาลดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแก่ ข้าราชการ 1 ราย ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการของคณะกรรมการสอบสวนและได้แจ้งความดำเนินคดีอาญาแล้ว กระทรวงสาธารณสุขได้มีคำสั่งให้ ไปปฏิบัติราชการที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขแล้ว
                 (6) กรณีโรงพยาบาลภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ  ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ได้แจ้งความต่อเจ้าพนักงานสถานีตำรวจภูธรภูสิงห์ ไว้แล้ว ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อดำเนินการทางวินัย ต่อไป
                 (7) กรณีโรงพยาบาลหนองกี่ จังหวัดบุรีรัมย์ ตรวจสอบหลักฐานการนำยาเข้าคลังและหลักฐานการเบิกจ่ายแล้ว ไม่พบความผิดปกติในปริมาณการใช้และไม่พบการสูญหาย และมียาบางส่วนเภสัชกร ของโรงพยาบาลหนองกี่ เป็นผู้สั่งซื้อให้ตนเองโดยสวมสิทธิ์สั่งซื้อในนามโรงพยาบาล เพื่อนำยาดังกล่าวไปจำหน่ายในร้านขายยาของตน ขณะนี้จังหวัดบุรีรัมย์กำลังดำเนินการสอบสวนทางวินัย 
                  (8) กรณีโรงพยาบาลเสริมงาม จังหวัดลำปาง ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวน พบว่ามียอดสั่งซื้อยาจริงจำนวนหนึ่ง และมีอดีต เภสัชกร (ลาออกจากราชการไปก่อนหน้านี้แล้ว) เป็นผู้สั่งซื้อให้ตนเองโดยวิธีสวมสิทธิสั่งซื้อในนามโรงพยาบาลเสริมงามและใช้เงินส่วนตัวจ่ายค่ายา แล้วได้นำยาดังกล่าวไปจำหน่ายในร้านขายยาของตนเอง                 
******************************** 30 มีนาคม 2555


   
   


View 13    30/03/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ