“วิทยา” เผยฉลองสงกรานต์วันที่ 2 ทั่วไทยเกิดอุบัติเหตุ 481 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 58 ราย บาดเจ็บนอนโรงหมอแทนบ้าน 515 ราย ส่วนสธ.วอนประชาชนโทรแจ้งสายด่วนกู้ชีพ 1669 เพราะจะช่วยลดเสียชีวิตผู้บาดเจ็บสูงถึงร้อยละ 97 ส่วนผลการตรวจเหล้า ลงดาบผู้ฝ่าฝืน 30ราย หากพบคนเจ็บ/ตายอายุต่ำกว่า 20 ปี จากเหตุเมาให้สาวถึงแหล่งจำหน่ายเหล้า วันนี้ (13เมษายน 2555)ที่ ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2555 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และคณะ แถลงข่าวว่า วันนี้เป็นวันที่สอง ของการแถลงข่าวการรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2555 หรือการรณรงค์ “สงกรานต์ปลอดภัย ตายเป็นศูนย์” จากข้อมูลของเมื่อวานนี้ (วันที่ 12 เมษายน 2555) ซึ่งเป็นช่วงที่มีการเดินทางอย่างหนาแน่น จากการประมวลผลระบบรายงานของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนในระดับอำเภอและจังหวัดทั่วประเทศ พบว่าทั่วประเทศ เกิดอุบัติเหตุ 481 ครั้ง เสียชีวิต 58 ราย บาดเจ็บ 515 ราย รวมสถิติสะสม 2 วัน เกิดอุบัติเหตุ 824 ครั้ง เสียชีวิต 88 ราย บาดเจ็บ 890 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตหรือตายเป็นศูนย์ ตามเป้าหมาย มี 38 จังหวัด ประกอบด้วย ภาคเหนือ 7 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 9 จังหวัด ภาคกลาง 15จังหวัด ภาคใต้7จังหวัด จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด เมื่อวานนี้ ได้แก่ จังหวัดชุมพร และนครนายก จำนวนจังหวัดละ 5 ราย จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด 2 วัน ได้แก่จังหวัดชุมพร นครนายก และพิจิตร จังหวัดละ 5 ราย สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ ส่วนใหญ่ยังคงเกิดจากการเมาสุราร้อยละ 39 รองลงมาคือ การขับรถเร็วร้อยละ 21 พฤติกรรมเสี่ยงที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ การโดยสารรถจักรยานยนต์โดยไม่สวมหมวกนิรภัยร้อยละ 31 และ ไม่คาดเข็มขัดนิรภัยร้อยละ 3 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดได้แก่ รถจักรยานยนต์ร้อยละ 84 รองลงมา คือ รถปิคอัพร้อยละ7 มีการเรียกตรวจยานพาหนะทั้งสิ้น 686,758 คัน เพิ่มขึ้นจากวันที่ผ่านมา 169,118 คัน และมีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 74,538 ราย เพิ่มขึ้น 18,425 ราย มีการดำเนินคดีในข้อหาขับรถย้อนศรเพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาร้อยละ 32 ข้อหาขับรถเร็วเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 และเมาสุราเพิ่มขึ้นร้อยละ24 ตามลำดับ นายวิทยากล่าวต่อว่า เนื่องจากขณะนี้ได้เข้าสู่ช่วงการเฉลิมฉลองของเทศกาลสงกรานต์แล้ว โดยพบว่าวันที่ 13 เมษายน จะมีผู้เสียชีวิตจากการเมาแล้วขับสูงสุด ได้กำชับทุกจังหวัดดำเนินการตามมาตรการ 7 ข้อได้แก่ 1.ให้เข้มงวดกวดขันการบังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 และพระราชบัญญัติสุราพ.ศ.2493 อย่างเคร่งครัด จากการสำรวจของกรมควบคุมโรคยังพบว่ามีการจำหน่ายในสถานที่ห้ามขาย ได้แก่ปั๊มน้ำมัน สวนสาธารณะร้อยละ 4 เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ส่วนการขายในเวลาห้ามขาย พบยังมีผู้กระทำผิด ร้อยละ0.4 ลดจากปีที่แล้ว 2.ให้ควบคุม เฝ้าระวัง และติดตามการเล่นสาดน้ำบนท้ายรถกระบะที่บรรทุกถังน้ำและมีผู้โดยสารเล่นสาดน้ำ ตักเตือนไม่ให้มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถกระบะ 3.ห้ามเล่นน้ำสงกรานต์ในพื้นที่เสี่ยง เช่น ริมถนน ข้างทาง ทางร่วม ทางแยก เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ รวมทั้งการควบคุมมิให้มีการเล่นสาดน้ำที่อันตราย เช่น สาดน้ำไปที่รถจักรยานยนต์ขณะกำลังแล่นบนถนน 4.ขอความร่วมมือผู้ปกครองให้เฝ้าระวังเด็กและเยาวชน ที่ไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ ขับรถหากเกิดอุบัติ ผู้ปกครอง หรือเจ้าของรถจักรยานยนต์ จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 5. ในกรณีที่พบว่ามีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต อายุต่ำกว่า 20 ปี โดยมีสาเหตุมาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้จังหวัดมีการสืบสวนและดำเนินคดีไปถึงผู้ขาย พร้อมทั้งแจ้งผลการดำเนินการมายังศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพื่อขยายผลการดำเนินการตามมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 6.ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ตั้งจุดตรวจเน้นบนถนนสายรองในตำบล หมู่บ้าน บังคับใช้กฎหมายเข้มงวดทั้งเมาแล้วขับ ขับรถเร็ว และไม่สวมหมวกนิรภัย โดยเฉพาะผู้ขับขี่ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ซึ่งเป็นช่วงอายุที่เสียชีวิตสูงสุด 7.ให้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่ผ่านเส้นทางที่มีการเล่นสาดน้ำสงกรานต์เป็นพิเศษ เนื่องจากสภาพถนนเปียกลื่น ซึ่งอาจมีการหยุดรถในระยะกระชั้นชิด ซึ่งเป็นสาเหตุที่ก่อให้ก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ให้ผู้ใช้รถจักรยานยนต์ทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสารสวมหมวกนิรภัยทุกครั้งในขณะขับขี่ จากสถิติอุบัติเหตุพบว่า การเสียชีวิตที่เกิดจากการไม่สวมหมวกนิรภัยยังอยู่ในเกณฑ์สูงถึงกว่าร้อยละ40 ทางด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตลอด 2 วันฉลองเทศกาลสงกรานต์ กระทรวงสาธารณสุขได้รับแจ้งมีผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน จากสายด่วนแพทย์ฉุกเฉิน 1669 มีจำนวน 5,494 เหตุ หน่วยแพทย์ฉุกเฉินออกปฏิบัติการทั้งหมด5,560 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ รวม 5,729 ราย ในวันที่ 11 เม.ย.มี 2,625 ราย วันที่ 12 เม.ย. มี 3,104ราย ส่วนใหญ่บาดเจ็บไม่รุนแรง โดยมีประชาชนโทรศัพท์แจ้งเหตุทางสายด่วนแพทย์ฉุกเฉิน 1669 จำนวน 3,987 ครั้ง ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 20 ของการเกิดอุบัติเหตุทั้งหมด ขอให้ประชาชนแจ้งเหตุเข้ามาทางสายด่วน 1669 ให้มากขึ้น ซึ่งเป็นบริการฟรี24 ชั่วโมง และพบว่าผู้บาดเจ็บที่ได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยแพทย์ฉุกเฉินมีโอกาสรอดชีวิตสูงถึง ร้อยละ97 แต่อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตุว่า ความรุนแรงของอุบัติเหตุปีนี้มีความรุนแรงมากเนื่องจาก พบผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ มากถึงร้อยละ36 ด้านนายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผลการตรวจบังคับใช้กฎหมายการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ในช่วงวันที่ 11 -12 เมษายน 2555 ในถนน 4สาย รวมทั้งหมด 188 ราย พบผู้กระทำผิดและดำเนินคดี 30ราย บางรายผิดมากกว่า 1 ฐานความผิด โดยพบขายในปั๊มน้ำมัน 8 ราย ร้านขายยา 1 ราย หอพัก 2 ราย ร้านค้าส่ง 1 ราย ร้านสะดวกซื้อและรานค้าทั่วไป 12 ราย สถานบันเทิง 6 ราย โดยแบ่งเป็น 4 สาย คือ สายเหนือ ที่จังหวัดตากตรวจ 41 ราย จับกุม 8 ราย สายอีสานตอนบนที่จังหวัดเลย ตรวจ 58 ราย จับกุม 6 ราย สายอีสานตอนล่างที่จังหวัดอุบลราชธานี ตรวจ 79 ราย จับกุม 9 ราย และกรุงเทพฯตรวจ 10 ราย จับกุม 7 ราย โทษของการขายในปั๊มน้ำมัน จำคุก 6 เดือน ปรับ 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โทษขายเหล้าในเวลาห้ามขาย (ขายได้เวลา 11-14 น. และเวลา 22-24 น.) จำคุก 2 ปี ปรับ4 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ******************************************* 13 เมษายน 2555


   
   


View 12    13/04/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ