รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยกย่องโรงพยาบาลสุรินทร์เป็นอีกโรงพยาบาลตัวอย่างในการลดความแออัดในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ สามารถกระจายผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ที่มีเกือบ 8,000 คน ไปดูแลต่อใน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ได้ร้อยละ 44 อย่างมีประสิทธิภาพ 

นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของโรงพยาบาลสุรินทร์ว่า จากการที่ได้ลงพื้นที่ตรวจราชการในครั้งนี้ ได้พบความสำเร็จในการดำเนินงานของโรงพยาบาลสุรินทร์ในหลายเรื่องที่สามารถนำมาเป็นแบบอย่างให้กับโรงพยาบาลอื่นๆในสังกัดได้ อาทิ โครงการลดความแออัดของโรงพยาบาลสุรินทร์ ที่สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการบริการผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง
นายแพทย์สุรวิทย์ กล่าวว่า ในการดำเนินการผู้ป่วยโรคเรื้อรัง จะมีการกำหนดแยกกลุ่มผู้ป่วยดูแล กลุ่มที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน จะอบรมเจ้าหน้าที่ที่ดูแลผู้ป่วย ทั้งที่โรงพยาบาลสุรินทร์,ศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองหรือ ศสม. และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือ รพ.สต.มีการปรับบัญชียาให้เหมือนกันทุกแห่งเป็นมาตรฐานเดียวกันกับโรงพยาบาลสุรินทร์ และให้ผู้ป่วยที่เคยใช้บริการที่โรงพยาบาลสุรินทร์ และสมัครใจไปใช้บริการที่ ศสม.3 แห่ง หรือรพ.สต.อีก 29 แห่ง ที่ผู้ป่วยสะดวกและอยู่ใกล้ที่สุด โดยทีมแพทย์และคลินิกโรคเรื้อรัง จากรพ.สุรินทร์จะออกไปตรวจและติดตามผลการรักษาผู้ป่วยทุกคนแบบ(One stop service)จุดเดียวเบ็ดเสร็จ อย่างน้อย ปีละ 2 ครั้ง  โดยมีการติดตามผลการตรวจเลือด ทั้งระดับน้ำตาล ระดับไขมันในเลือด ดูการทำงานของไต และตับ และตรวจตา ตรวจเท้า ดูปัญหาแทรกซ้อน รวมทั้งตรวจสุขภาพช่องปาก ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาลสุรินทร์เหมือนที่ผ่านมา   
จากผลการดำเนินงาน โรงพยาบาลสุรินทร์ มีจำนวนผู้ป่วยโรคเบาหวานที่อยู่ในการดูแลรักษา 7,784คน ปี พ.ศ.2554 สามารถกระจายผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไปรับยาใน รพ.สต. ทั้งหมด 2,052 คน คิดเป็นร้อยละ 29   ในปีนี้ได้ส่งผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูงไปรับยาใน รพ.สต. เพิ่ม 1,349 คน รวม 2 ปีสามรถกระจายผู้ป่วยไปได้ทั้งหมด 3,401คน คิดเป็นร้อยละ 44 ของผู้ที่ขึ้นทะเบียนรักษาที่โรงพยาบาลสุรินทร์    นายแพทย์สุรวิทย์ กล่าว
ทางด้านนายแพทย์ธงชัย ตรีวิบูลย์วณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุรินทร์ กล่าวว่า จากการประเมินผลความพึงพอใจของผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ไปใช้บริการที่ ศสม.และ รพ.สต.ในช่วง 2 ปีแรก พบว่า ผู้ป่วยมีความพึงพอใจบริการสูงถึงร้อยละ 86 เนื่องจากสะดวก เป็นการบริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ ไม่เสียเวลารอนาน ประหยัดเงินค่ารถ ค่าอาหารลงได้มาก ซึ่งต่อรายต้องเสียครั้งละ 200-300 บาท และหากมีญาติพาไปส่งด้วยค่าใช้จ่ายจะสูงอีกเท่าตัว ประการสำคัญสามารถควบคุมอาการของผู้ป่วยไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้ทันการ ในปี 2555 โรงพยาบาลสุรินทร์จะขยายโครงการให้มากขึ้น และจะเพิ่มการตรวจคัดกรองประชาชนที่มีพฤติกรรมเสี่ยงที่อยู่ในเขตรับผิดชอบ อาทิ ผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไปให้ได้ไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 97 รวมทั้งเด็กอายุ 15 ปีขึ้นไปที่อ้วน หรือผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน ครอบคลุมให้ได้ร้อยละ 80 ของผู้ที่มีความเสี่ยงและอยู่ในพื้นที่เขตเมือง รวมทั้งเข้าไปปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ เพื่อไม่ให้เกิดโรคลดจำนวนผู้ป่วยรายใหม่   
********************************* 18 เมษายน 2555


   
   


View 11    18/04/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ