นายกรัฐมนตรี มอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เตรียมความพร้อมด้านการแพทย์ รับแผ่นดินไหวในพื้นที่เสี่ยง 22 จังหวัด ในภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคกลาง สร้างความเชื่อมั่นประชาชน วันนี้ได้ส่งรถพยาบาลขนาดใหญ่ อุปกรณ์ช่วยชีวิตครบครัน 3 คัน ประจำการที่รพ.วชิระภูเก็ต และรพ.ถลาง และสนามบิน รองรับหากเกิดสถานการณ์รุนแรง โดยให้โรงพยาบาลในพื้นที่เสี่ยงทั้งหมด จัดซ้อมแผนความพร้อมในสัปดาห์หน้า 

นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัด เพื่อรองรับสถานการณ์แผ่นดินไหวและภัยพิบัติว่า ในการประชุมครั้งนี้เป็นมาตรการเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับพี่น้องประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงใน 3 กลุ่มจังหวัด รวม 22 จังหวัด โดยเฉพาะกลุ่มจังหวัดภาคใต้ที่ต้องเฝ้าระวังในขณะนี้ 7 จังหวัดได้แก่ ภูเก็ต พังงา กระบี่ ชุมพร ระนอง สงขลา สุราษฎร์ธานี กลุ่มที่ 2 พื้นที่อยู่ใกล้บริเวณรอยเลื่อน ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ได้แก่ กาญจนบุรี เชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน กลุ่มที่ 3 พื้นที่ดินอ่อนมาก อาจได้รับผลกระทบแผ่นดินไหวระยะไกล ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร โดยได้สั่งเตรียมความพร้อมไปในจังหวัดดังกล่าวเพื่อรองรับสถานการณ์หากเกิดภัยพิบัติ
นายวิทยากล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ต้องเตรียมการรองรับหากเกิดเหตุการณ์ใน 2 เรื่องได้แก่ 1.ด้านความพร้อมสถานบริการ โรงพยาบาล(รพ.)เพื่อรองรับผู้บาดเจ็บ 2.เตรียมการของหน่วยแพทย์ฉุกเฉินเคลื่อนที่ ซึ่งสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ต้องดำเนินการให้ฉับพลันทันเหตุการณ์ และได้สั่งการให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้ส่งรถพยาบาลฉุกเฉินขนาดใหญ่ 3 คัน ขนาด 6 เตียง หรือที่เรียกว่า ซุปเปอร์ แอมบูแลนซ์ (  Super Ambulance)อุปกรณ์ช่วยชีวิตครบครัน ไปประจำการที่จังหวัดภูเก็ตจำนวน 3 คัน ที่รพ.วชิระภูเก็ต รพ.ถลาง และที่สนามบินภูเก็ต เพื่อรองรับหากเกิดสถานการณ์ เพิ่มความเชื่อมั่นแก่ประชาชนจังหวัดภูเก็ต และให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติเตรียมความพร้อม จัดซ้อมแผนโรงพยาบาล การตั้งโรงพยาบาลสนามอย่างทันท่วงที
ในการกำหนดจุดอพยพนั้น หากเกิดสถานการณ์ จังหวัดจะเป็นผู้กำหนดจุดว่าจุดใดปลอดภัย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะเข้าไปดำเนินการตั้งโรงพยาบาลสนาม เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องเข้ามาดูแล ผมในฐานะผู้ดูแลกระทรวงสาธารณสุขได้รับคำสั่งจากนายกรัฐมนตรีต้องเตรียมความพร้อม เพื่อให้ความเชื่อมั่นแก่ประชาชน ประชาชนต้องได้รับการดูแล ตั้งแต่การอพยพ การส่งต่อ การดูแลการเจ็บป่วย นายวิทยากล่าว
นายวิทยากล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องความเสียหายของสถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ขณะนี้ได้รับรายงานว่ามีเพียงแห่งเดียวคือโรงพยาบาลป่าตอง ที่พบรอยร้าวของผนังเพียงเล็กน้อย 2 อาคาร ได้มอบหมายให้ทีมวิศวกรของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพไปตรวจสอบแล้ว  
ทางด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้สั่งการให้โรงพยาบาลในพื้นที่เสี่ยง 22 จังหวัด ภาคใต้ ภาคเหนือและภาคกลาง จัดซ้อมแผนทั้งด้านบุคลากร การสื่อสาร เครื่องมือแพทย์ รับสถานการณ์ภายในสัปดาห์หน้า และได้มอบหมายให้รองปลัดกระทรวงสารณสุข รับผิดชอบดูแล โดยให้นายแพทย์สมชัย นิจพานิช ดูแลพื้นที่ภาคใต้ 7 จังหวัด และนายแพทย์โสภณ เมฆธน ดูแล 10 จังหวัดภาคเหนือที่มีรอยเลื่อน โดยในการปฏิบัติงานหากมีแผ่นเดินไหวรุนแรง จะตั้งศูนย์บัญชาการสั่งการ 3 ระดับ ประกอบด้วย ระดับจังหวัด ระดับเขต และระดับกระทรวงเพื่อประสานความร่วมมือหน่วยงานในสังกัดและหน่วยงานที่เกี่ยวของ อย่างครอบคลุมและเป็นลำดับขั้น ************************************* 19 เมษายน 2555


   
   


View 12    19/04/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ