กระทรวงสาธารณสุข สั่งให้โรงพยาบาลทุกระดับเร่งรัด 9 มาตรการควบคุมตรวจสอบระบบบริหารจัดการยาและเวชภัณฑ์ที่ใช้อยู่เดิม เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายด้านยา โดยให้ส่งรายงานยาที่มีปริมาณการใช้ยาที่มีมูลค่าสูงสุด และยาที่มีมูลค่าต่อหน่วยอย่างละ 20 รายการ ในปีงบประมาณ 2554 ภายใน 27 เมษายน 2555 นายแพทย์โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับมาตรการควบคุมยาและเวชภัณฑ์ของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขว่า นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้กำชับให้โรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่งทั่วประเทศ เร่งรัดระบบการบริหารยาและเวชภัณฑ์ของโรงพยาบาล 9 ข้อ ซึ่งใช้มาเป็นกว่า 15 ปี ให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนองนโยบายรัฐบาลในการควบคุมค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ โดยให้ส่งรายงานยาที่มีปริมาณการใช้สูงสุด ยาที่มีมูลค่าสูงสุด และยาที่มีมูลค่าต่อหน่วยสูงสุด อย่างละ 20 รายการ ในปีงบประมาณ 2554 ภายใน 27 เมษายน 2555 นี้ ซึ่งได้ประชุมชี้แจงนโยบายและมาตรการควบคุมต่างๆ แก่นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นายแพทย์โสภณกล่าวต่อไปว่ามาตรการ 9 แนวทางในการบริหารยาและเวชภัณฑ์ ได้แก่ 1.คณะกรรมการเภสัชกรรมและการบำบัดของโรงพยาบาลทุกระดับ ต้องกำหนดนโยบายด้านยาและเวชภัณฑ์ และติดตามกำกับการใช้ในโรงพยาบาล และปฏิบัติตามแผนการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ประจำปี 2. คัดเลือกและทบทวนรายการยาและเวชภัณฑ์เข้า-ออกจากบัญชีโรงพยาบาล 3.จัดซื้อยาเวชภัณฑ์ตามแผนการจัดซื้อ รายการใดที่มีการใช้มาก ให้จัดซื้อร่วมกันทั้งจังหวัดหรือร่วมกันหลายๆจังหวัดในระดับเขต 4.ให้มีคณะกรรมการตรวจรับตามระเบียบพัสดุ รายการใดที่ไม่มีใบสั่งซื้อ ให้แจ้งบริษัทและส่งคืนทันที 5.มีระบบรักษาความปลอดภัยในการการควบคุมเวชภัณฑ์ ให้เคร่งครัด และสำรองคลังไม่เกิน 3 เดือน เพื่อป้องกันการเสื่อมสภาพหรือหมดอายุ 6.กำหนดให้มีผู้เบิก-จ่ายที่ชัดเจน 7.กำหนดหลักเกณฑ์การสั่งใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล มีการติดตามประเมินการใช้ยาในกลุ่มยาที่ต้องเฝ้าระวังหรือยาที่มีมูลค่าสูง 8.จัดระบบการตรวจสอบและรายงาน เป็นระยะๆ เป็นรายเดือน รายปี เสนอผู้บังคับบัญชา และ9.ให้ผู้ตรวจราชการฯติดตามควบคุมกำกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ให้โรงพยาบาลทุกระดับทุกแห่งควบคุมภายในเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และระเบียบพัสดุ โดยเคร่งครัด กรณีที่พบโรงพยาบาลใดมีปัญหาด้านบริหารเวชภัณฑ์ ส่วนกลางจะส่งทีมนิเทศเฉพาะกิจ เพื่อวิเคราะห์ปัญหาและพัฒนาระบบงานให้เกิดประสิทธิภาพ นายแพทย์โสภณกล่าวต่ออีกว่า โดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการข้อมูลยาทั้งระบบ กระทรวงสาธารณสุขจะจัดทำให้เป็นระบบที่เป็นปัจจุบัน (Real time Online) และเชื่อมโยงเครือข่ายได้ทั้งประเทศ ได้ให้ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ ประสานกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารดำเนินการ คาดว่าจะสำเร็จสมบูรณ์แบบในปีหน้า ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการควบคุมตรวจสอบมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้กรณียาแก้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดรีน ที่พบมีปัญหาในโรงพยาบาล 8 แห่ง จากทั้งหมด 845 แห่ง ชี้ให้เห็นว่าระบบบริหารเวชภัณฑ์ยากระทรวงสาธารณสุขส่วนใหญ่ยังดำเนินการได้ดี มีส่วนน้อยที่มีจุดที่มีปัญหา อย่างไรก็ตามได้ กำชับเข้มงวดมาตรการทั้ง 9 ข้อต่อไปเพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลในการควบคุมค่าใช้จ่ายต่อไป *********************************** 22 เมษายน 2555


   
   


View 12    22/04/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ