นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ ว่า โรงพยาบาลกาบเชิงเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 60 เตียงที่อยู่ติดชายแดนไทย-กัมพูชา และมีชาวกัมพูชามาใช้บริการวันละไม่ต่ำกว่า 20-30 คน โดยจุดเด่นของโรงพยาบาลกาบเชิง ได้เปิดบริการรักษาพยาบาลด้วยการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกแก่ประชาชน ควบคู่การแพทย์แผนปัจจุบัน โดยเป็นแหล่งผลิตยาสมุนไพรแห่งใหญ่ที่สุดของจังหวัดสุรินทร์ เพื่อใช้ในโรงพยาบาลและส่งสนับสนุนให้โรงพยาบาลอื่นๆในจังหวัด สามารถผลิตสมุนไพรได้ทั้งสิ้น 46 ตำรับ เช่นรักษาอาการไข้ ปวดเมื่อย รักษาโรคกระเพาะอาหาร โรคริดสีดวงทวาร ปัจจุบันโรงงานสมุนไพรนี้มีมูลค่าการผลิตประมาณ 2 ล้านบาทต่อปี นายแพทย์สุรวิทย์ กล่าวว่า ในการสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพของยาสมุนไพร โรงพยาบาลกาบเชิงได้ร่วมกับนักวิจัย ทำการศึกษาวิจัยการใช้ยาสมุนไพรตำรับต่างๆ พบว่าได้ผลจริงหลายตำรับ เช่น ยาปราบชมพูทวีป ยาเลือดงาม ยาสตรีหลังคลอดและยาบำรุงน้ำนม และที่ค้นพบใหม่คือ ตำรับยาโลดทะนงแดงแก้พิษงูเห่า ซึ่งเป็นงูพิษที่พบมากที่สุดในพื้นที่ และใช้รักษาพิษแมลงสัตว์กัดต่อย ผลวิจัยพบว่าได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจ ได้รับการยอมรับจากกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แต่การใช้สมุนไพรตัวนี้ ยังไม่เป็นที่แพร่หลายเนื่องจากสมุนไพรโลดทะนงแดงเป็นพืชสมุนไพรที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ จึงมีวัตถุดิบน้อย สำหรับสมุนไพรโลดทะนงแดงหรือที่ชาวบ้านเรียกว่าหนาดคำ นางแซง ตู่เตี้ย ตู่เย็น ข้าวเย็นเหนือ เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงประมาณ 0.5-1.5 เมตร จะพบอยู่ในป่าตามแนวเทือกเขาพนมดงรัก เขตชายแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ และพบทั่วไปในหลายภาคของประเทศ เนื่องจากการใช้ตำรับยาโลดทะนงแดงแก้พิษงู แมลงสัตว์กัดต่อย เป็นที่ยอมรับของประชาชนในพื้นที่และได้ผลดี จึงมีนโยบายให้โรงพยาบาลกาบเชิงทำการศึกษาวิจัยสมุนไพรชนิดนี้เพิ่มเติมเพื่อหาสรรพคุณที่อาจจะมีอยู่อีก พร้อมทั้งประสานกระทรวงเกษตรฯเพื่อศึกษาวิจัยวิธีการเพาะปลูกให้ได้คุณภาพตัวยาเทียบเท่ากับขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งจะทำให้มีวัตถุดิบอย่างเพียงพอในการผลิตเป็นยาตำรับยา เพื่อนำเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติใช้รักษาผู้ป่วยที่อื่นๆได้ด้วย นายแพทย์สุรวิทย์กล่าว นายแพทย์สุรวิทย์กล่าวอีกว่า งูเห่าเป็นงูที่มีพิษต่อระบบประสาท อยู่ในกลุ่มเดียวกับ งูจงอาง งูสามเหลี่ยม และงูทับสมิงคลา พิษของงูเห่าทำให้เสียชีวิตมากเป็นอันดับ 1 โดยผู้ที่ถูกกัดจะมีอาการตาปรือ หนังตาตก สายตาพร่า ง่วง หายใจลำบาก กลืนลำบาก และพูดไม่ชัด รายที่รุนแรงอาจหยุดหายใจ หมดสติ และเสียชีวิตได้ ด้านพันตรีนายแพทย์ศตวรรษ สินประสิทธิ์กุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกาบเชิง กล่าวว่า โรงพยาบาลกาบเชิงได้นำตำรับยาโลดทะนงแดงมารักษาผู้ป่วยถูกงูพิษกัดตั้งแต่ปี 2526 ซึ่งดั้งเดิมเป็นสูตรของหมอพื้นบ้าน ส่วนที่นำมาเป็นยาคือส่วนราก มีผลยับยั้งประสิทธิภาพการทำงานของพิษงูเห่า โดยจะนำรากมาฝนและใช้ร่วมกับผงบดของผลหมากสุกที่แห้งแล้ว แล้วนำมาผสมน้ำมะนาวและพอกที่แผลงูกัด และผสมน้ำดื่มเพื่อช่วยขับพิษด้วย ขณะนี้โรงพยาบาลฯได้พัฒนาวิธีการใช้ในการรักษาให้สะดวก รวดเร็ว โดยบดรากโลดทะนงแดงเป็นผงแห้ง สามารถนำมาผสมกับผงหมากสุกแห้งและน้ำมะนาวใช้ได้ทันทีเมื่อมีผู้ป่วย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกาบเชิง กล่าวต่อว่า ทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ทำการศึกษาวิจัยใช้ตำรับยาโลดทะนงแดง รักษาตำรวจตะเวนชายแดน จังหวัดสุรินทร์ จำนวน 36 นาย ที่ถูกงูเห่ากัด ซึ่งทุกนายสมัครใจรักษาด้วยวิธีนี้ พบว่าได้ผลดี ไม่มีการเสียชีวิตแม้แต่รายเดียว ไม่พบผลข้างเคียง โดยในการรักษาพิษงูเห่าดังกล่าว ไม่ได้ใช้เซรุ่มแก้พิษงูแต่อย่างใด จนถึงขณะนี้โรงพยาบาลกาบเชิงได้ใช้ตำรับยาโลดทะนงแดงรักษาประชาชนที่ถูกงูเห่ากัดประมาณ 80 ราย ทุกรายปลอดภัย ไม่มีเสียชีวิต ปัจจุบันตำรับยาโลดทะนงแดงของโรงพยาบาลกาบเชิง ได้นำไปใช้เป็นยาช่วยชีวิตขั้นตนที่ห้องฉุกเฉิน ผู้ป่วยที่รักษาด้วยยาสมุนไพรจะนอนโรงพยาบาลประมาณ 1-2 วัน และขณะนี้ได้นำสมุนไพรโลดทะนงแดงไปใช้รักษาผู้ป่วยที่ถูกงูกัดในภาคใต้คือที่โรงพยาบาลท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลต้นแบบของการให้บริการแพทย์แผนไทยแบบครบวงจรของกระทรวงสาธารณสุข ที่มีระบบการส่งเสริมการผลิตยาในโรงพยาบาล และการใช้ในโรงพยาบาลและในชุมชนด้วย ***************************************** 22 เมษายน 2555


   
   


View 17    22/04/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ