รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนดื่มน้ำมากๆ เพื่อให้ร่างกายปรับตัวในวันที่สภาพอากาศในประเทศไทยจะร้อนสูงสุดในรอบปี วันที่ 26-27 เมษายน 2555 นี้ ย้ำเตือนให้เลี่ยงการดื่มเหล้าในช่วงสภาพอากาศร้อน ทั้งดื่มใส่น้ำแข็งหรือไม่ใส่ เสี่ยงการเสียชีวิต โดยจะทำให้แอลกอฮอล์ซึมเข้ากระแสโลหิตเร็ว อาจทำให้ขาดน้ำ ช็อคหมดสติได้

          นายแพทย์สุรวิทย์  คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันที่ 26-27 เมษายน 2555 จะเป็นวันที่มีอุณหภูมิสูงที่สุดในรอบปี จึงมีความเป็นห่วงสุขภาพประชาชน วิธีการป้องกันอันตรายในช่วงที่มีอากาศร้อนที่สำคัญและง่ายที่สุดคือ จะต้องดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ โดยปกติควรดื่มน้ำให้ได้อย่างน้อย 2 ลิตรต่อวัน ผู้ที่ทำงานในที่ร่มควรดื่มอย่างน้อยวันละ 6 - 8 แก้ว ผู้ที่ดื่มน้ำไม่เพียงพอจะไม่สามารถปรับตัวให้สู้กับอากาศร้อนได้ เนื่องจากน้ำจะเป็นตัวควบคุมอุณหภูมิของร่างกายซึ่งปกติจะอยู่ที่ประมาณ 37 องศาเซลเซียส  

นายแพทย์สุรวิทย์กล่าวต่อว่า ในการสังเกตว่าร่างกายได้รับน้ำเหมาะสมเพียงพอหรือไม่ ประชาชนสามารถสังเกตง่ายๆ จากสีของน้ำปัสสาวะ ถ้าปัสสาวะมีสีเหลืองจางๆ แสดงว่าได้รับน้ำเพียงพอ แต่ถ้าปัสสาวะมีสีเหลืองเข้มคล้ายน้ำชาและปัสสาวะออกน้อย แสดงว่าได้รับน้ำไม่เพียงพอ จะต้องดื่มน้ำให้มากๆ เครื่องดื่มที่ไม่ควรดื่มในช่วงที่สภาพอากาศร้อนก็คือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เนื่องจากร่างกายจะมีโอกาสสูญเสียน้ำและเกลือแร่สูงกว่าผู้ที่ไม่ได้ดื่ม ซึ่งเป็นผลมาจากการขับแอลกอฮอล์ออกจากร่างกาย นอกจากนี้ ภาวะอากาศที่ร้อน แล้ง จะมีผลให้ประชาชนเกิดความเครียด หงุดหงิดได้ง่าย หากมีการดื่มสุราร่วมด้วยจะยิ่งส่งเสริมให้มีอาการมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตอยู่แล้ว ได้มอบหมายให้กรมสุขภาพจิตเตรียมบุคลากรไว้รองรับเรื่องนี้ด้วย ประชาชนสามารถขอรับบริการปรึกษาที่สายด่วน 1323 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

          ทางด้านนายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงหน้าร้อน ไม่ว่าจะดื่มโดยใส่หรือไม่ใส่น้ำแข็งก็ตาม    จะมีผลกระทบต่อร่างกายอย่างมาก เพราะอาจทำให้ร่างกายปรับสภาพไม่ทัน ถึงขั้นเกิดภาวะช็อกได้ หากร่างกายไม่ฟิตและมีความสมบูรณ์ไม่มากพอ หากเป็นผู้มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ก็ยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้นไปอีก เนื่องจากในสภาวะอากาศร้อนอบอ้าว จะทำให้แอลกอฮอล์ซึมผ่านเข้าสู่กระแสโลหิตเร็ว  และเพิ่มแรงดันโลหิตให้สูงขึ้นมากกว่าช่วงที่มีอากาศหนาวเย็น หรือในช่วงที่มีอากาศปกติ          

          นอกจากนี้ ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะทำให้หลอดเลือดใต้ผิวหนังขยายตัว ร่างกายจึงสูญเสียน้ำและเกลือแร่ผ่านทางเหงื่อกับทางปัสสาวะได้ง่าย ส่งผลให้ร่างกายขาดน้ำ ซึ่งอาจทำให้ช็อคหมดสติ และมีโอกาสเสียชีวิตได้ นายแพทย์สมานกล่าว

          ************************************************ 25 เมษายน 2555



   
   


View 11    25/04/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ