นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งตรวจสอบควบคุมอาหารไทยทั้งหมดให้เข้าสู่ระบบความปลอดภัย เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่มุ่งยกระดับความปลอดภัยอาหารไทย เพื่อให้ครัวไทยเป็นครัวของโลก และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของประเทศไทยในปี พ.ศ.2558 โดยกระทรวงสาธารณสุขมีแผนที่จะส่งเสริมผลิตภัณฑ์อาหารพื้นบ้านที่เป็นอาหารยอดนิยมของท้องถิ่นให้ได้รับเลขสารบบอาหาร (เลข อย.) ซึ่งจะดำเนินการทั้ง 4 ภาคทั่วประเทศ เพื่อเชิดชูอาหารไทยและขนมไทยให้เป็นที่ยอมรับของนักท่องเที่ยวที่จะซื้อฝากเป็นของที่ระลึก และเพื่อเป็นการสืบสานและอนุรักษ์อาหารไทยให้สืบทอดต่อไป ไม่ลืมหายไปตามกาลเวลา โดยจะต่อยอดนำอาหารพื้นบ้านไทยออกสู่สายตาชาวต่างชาติ นายวิทยากล่าวว่าในส่วนของอาหารทั่วไปทั้งของฝาก อาหารพื้นบ้าน และสินค้าอาหารหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์หรืออาหารโอทอป(OTOP)ซึ่งเป็นอาหารแปรรูปที่บรรจุในภาชนะบรรจุพร้อมจำหน่ายซึ่งมีจำหน่ายแพร่หลายในทุกจังหวัด ควรมีการยกระดับมาตรฐานการผลิตอาหาร กระทรวงสาธารณสุขจึงมีนโยบายสนับสนุนให้อาหารกลุ่มนี้ เข้าสู่ระบบความปลอดภัยด้วยตามมาตรฐานจีเอ็มพีขั้นพื้นฐาน (Primary GMP)โดยได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข 2 ฉบับ และลงนามเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2555 ที่ผ่านมา ดังนี้ 1.ประกาศกระทรวงสาธารณสุข(ฉบับที่ 342) พ.ศ.2555 เรื่อง วิธีการผลิต เครื่องมือเครื่องใช้ในการผลิต และเก็บรักษาอาหารแปรรูปในภาชนะบรรจุพร้อมจำหน่าย ลงวันที่ 17 เมษายน 2555 กำหนดให้อาหารแปรรูปที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่ายต้องปฏิบัติตาม จีเอ็มพีขั้นพื้นฐาน(Primary GMP)ได้แก่อาหารพร้อมปรุงและอาหารสำเร็จรูปพร้อมบริโภคทันที และอาหารทั่วไปซึ่งเป็นอาหารที่ผ่านกระบวนการแปรรูป เช่น ตัดแต่งในลักษณะที่นำไปปรุงหรือบริโภค คั่ว ทำให้แห้ง หมักดอง เป็นต้น 2.ประกาศกระทรวงสาธารณสุข(ฉบับที่ 343) พ.ศ. 2555 เรื่องฉลาก (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 17 เมษายน 2555 เพื่อรองรับให้อาหารทั่วไปซึ่งเป็นอาหารแปรรูปที่เป็นสินค้าพื้นบ้านหรือสินค้าโอทอป ที่ผ่านการตรวจประเมินสถานที่ผลิตตามเกณฑ์จีเอ็มพีขั้นพื้นฐานแล้ว สามารถขอรับเลขสารบบอาหารได้ (เลขอย.) ขณะนี้ประกาศทั้ง 2 ฉบับอยู่ระหว่างการลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ผู้ผลิตหรือนำเข้าอาหารแปรรูปที่บรรจุในภาชนะบรรจุพร้อมจำหน่ายรายเก่าต้องปฏิบัติให้ได้ตามข้อกำหนดภายใน 3 ปี ส่วนผู้ผลิตรายใหม่ต้องปฏิบัติตามทันทีหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 180 วัน และได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแจ้งไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อแจ้งให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้าสินค้าประเภทที่อยู่ในข่ายของประกาศฯดังกล่าว ให้ปฏิบัติเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ทางด้านนายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า เกณฑ์มาตรฐานสถานที่ผลิต ประกอบด้วย 6 เรื่อง ได้แก่ 1.สถานที่ตั้งและอาคารผลิต ต้องสะอาด เป็นสัดส่วน ไม่ปะปนกับที่อยู่อาศัย2.เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิต ต้องทำความสะอาดได้ง่ายและทั่วถึง มีมาตรการป้องกันสัตว์แมลงสัมผัสอาหาร 3.การควบคุมกระบวนการผลิต ต้องมีการคัดเลือกวัตถุดิบและส่วนผสมในการผลิต ที่สะอาด มีคุณภาพดี หากใช้วัตถุเจือปนอาหารต้องเป็นชนิดที่อนุญาตให้ใช้และใช้ในปริมาณที่กฎหมายกำหนด 4.การสุขาภิบาล น้ำที่ใช้ในการผลิตสะอาด มีระบบกำจัดขยะ ห้องสุขา อ่างล้างมือถูกสุขลักษณะและเพียงพอ มีระบบระบายน้ำทิ้ง 5.อาคารสถานที่ เครื่องมือ อุปกรณ์ในการผลิต ได้รับการทำความสะอาดถูกสุขลักษณะและสม่ำเสมอ 6.ผู้ผลิต ไม่เป็นโรคติดต่อหรือโรคน่ารังเกียจตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2522) ********************************** 9 พฤษภาคม 2555


   
   


View 9    09/05/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ