กระทรวงสาธารณสุข เผยขณะนี้ได้ยกร่างกฎหมายควบคุมการบริโภคยาสูบฉบับใหม่เสร็จแล้ว มี 8 หมวด ให้มีความทันสมัย เพิ่มพื้นที่ปลอดควันบุหรี่ การรักษาพยาบาล และเพิ่มคณะกรรมการควบคุมยาสูบระดับจังหวัด โดยจะเร่งทำประชาพิจารณ์ให้เสร็จภายในเดือนสิงหาคม และเข้าครม.ให้ทันภายในปีนี้ และขานรับ 10 มาตรการควบคุมยาสูบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติให้เป็นรูปธรรมทางการปฏิบัติ  

วันนี้ (1 มิถุนายน 2555) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์อภิชัย มงคล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันนี้ นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบแห่งชาติ หรือคบยช. ครั้งที่ 2 ประจำปี 2555 โดยมีวาระสำคัญ 2 ประเด็นใหญ่ ได้แก่ 1.ความคืบหน้าการยกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการควบคุมการบริโภคยาสูบฉบับใหม่ ใช้แทนกฎหมายเดิม 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ และพ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ ซึ่งใช้มานาน 20 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2535 จะรวบให้เป็นฉบับเดียว และปรับปรุงให้มีความทันสมัย ทันสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงมากมาย โดยเฉพาะเทคโนโลยีการสื่อสาร การขยายพื้นที่ปลอดควันบุหรี่ การรักษาพยาบาล รวมทั้งให้เพิ่มคณะกรรมการควบคุมยาสูบระดับจังหวัด
 
ขณะนี้ ได้ยกร่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วย 8 หมวด ได้แก่ หมวด 1 คณะกรรมการนโยบายควบคุมการบริโภคยาสูบแห่งชาติ หมวด 2 คณะกรรมการอำนวยการควบคุมการบริโภคยาสูบแห่งชาติ หมวด 3 สำนักงานคณะกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบ หมวด 4 การควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ หมวด 5 การคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ หมวด 6 การบำบัดรักษาและฟื้นฟูสภาพผู้ติดยาสูบ หมวด 7 พนักงานเจ้าหน้าที่ และหมวด 8 บทกำหนดโทษ ขั้นตอนต่อไปจะเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนใน 6 ช่องทางได้แก่ การทำประชาพิจารณ์ 4 ภาคในเดือนมิถุนายน-สิงหาคมนี้ การแจ้งเวียนหน่วยราชการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เว็บไซต์ เฟซบุ๊ค แอนดรอด์/ไอโฟน และตู้ป.ณ. เพื่อนำความคิดเห็นมาปรับปรุงแก้ไข นำเสนอต่อ คบยช. และครม.พิจารณาต่อไป คาดว่าจะเสร็จสิ้นประมาณปลายปีนี้
 
                ประเด็นที่ 2 ได้แก่ การดำเนินการตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 3 พ.ศ.2553 ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2555 เพื่อควบคุมการบริโภคยาสูบ 10 มาตรการ รวมทั้งให้กระทรวงการคลังและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพิ่มความเข้มงวดปราบปรามการลักลอบนำเข้าบุหรี่เถื่อนจากต่างประเทศ เนื่องจากทำให้ราคาถูกกว่าบุหรี่ถูกกฎหมายในท้องตลาด ทำให้การเข้าถึงบุหรี่ง่ายขึ้น โดยมีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งมี 10 หน่วยงาน เร่งดำเนินการขยายผลในส่วนที่เกี่ยวข้อง และรายงานผลในที่ประชุมครั้งหน้า และให้กรมควบคุมโรค จัดประชุมขับเคลื่อนนโยบายการดำเนินงานตามมติของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ และรายงานความก้าวหน้าในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 ในวันที่ 19-21 ธันวาคม 2555
 
สำหรับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติฯ 10 มาตรการ ได้แก่ 1.ให้ทุกหน่วยราชการกำหนดนโยบายหรือระเบียบภายในหน่วยงาน เพื่อป้องกันอุตสาหกรรมยาสูบแทรกแซงนโยบายการควบคุมยาสูบของรัฐ 2.ให้กระทรวงการคลังปรับโครงสร้างภาษียาสูบ โดยพิจารณาจัดเก็บภาษีบุหรี่ซอง ทั้งตามสภาพและตามราคาขายปลีก รวมทั้งยาเส้นที่ทำจากใบยาสูบพื้นเมืองด้วย และทยอยปรับขึ้นภาษียาเส้นและยาสูบอื่นอย่างค่อยเป็นค่อยไป  และ
ห้ามธุรกิจยาสูบทำกิจกรรมซีเอสอาร์ (Corporate Social Responsibility : CSR) หรือกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ 3.ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม กรมบัญชีกลาง และกระทรวงสาธารณสุข ให้บริการบำบัดโรคติดบุหรี่ และสนับสนุนให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการเลิกบุหรี่
 
4.ให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ปรับปรุงกฎหมาย ห้ามโฆษณาและส่งเสริมการตลาด การประชาสัมพันธ์ การให้ทุนอุปถัมภ์จากอุตสาหกรรมยาสูบ ทางสื่อคอมพิวเตอร์ทั้งจากภายในและต่างประเทศ และออกกฎหมายจัดสรรเวลาในการนำเสนอโทษของยาสูบในสื่อทุกประเภทในสัดส่วนที่เหมาะสม 5.ให้กระทรวงวัฒนธรรมกรมประชาสัมพันธ์และกระทรวงเทคโนโลยีฯปรับปรุงกฎหมายเพื่อห้ามมีฉากสูบบุหรี่และการทำซีเอสอาร์ทางภาพยนตร์โทรทัศน์ และสื่อมวลชนต่างๆและมีมาตรการส่งเสริมให้บุคคลสาธารณะที่มีชื่อเสียงเช่นดารานักร้องไม่สูบบุหรี่ในที่สาธารณะ เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่สาธารณชน
 
                6.ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและกระทรวงวัฒนธรรมควบคุมกำกับองค์กรและเครือข่ายไม่ให้รับการสนับสนุนใดๆจากบริษัทยาสูบทั้งภายในและต่างประเทศตามกฎหมาย7.ให้กระทรวงศึกษาธิการ บรรจุเรื่องโรคที่เกี่ยวกับบุหรี่ ในหลักสูตรการเรียนการสอน และกำชับให้สถานศึกษาทุกแห่งทั้งรัฐและเอกชน ดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหายาสูบ ได้แก่ ติดป้ายห้ามสูบบุหรี่ในสถานศึกษา และห้ามสูบบุหรี่ในสถานศึกษาตามที่กฎหมายกำหนดห้ามสูบบุหรี่ในขณะใส่ชุดสถาบันหรือชุดนักศึกษา  ให้บุคลากรทางการศึกษาเช่นครูอาจารย์นักการภารโรงผู้นำทางศาสนาเป็นต้น   เป็นแบบอย่างแก่นักเรียนนักศึกษา และสนับสนุนงบประมาณการผลิตสื่อนวัตกรรมด้านพิษภัยจากบุหรี่อย่างเป็นรูปธรรมและการวิจัยกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ
 
8.ให้กระทรวงสาธารณสุขและคบยช. เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่กระทรวงมหาดไทยสำนักงานตำรวจแห่งชาติกระทรวงการคลังและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 9.ให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการให้มีคณะกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบระดับจังหวัด เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานตามมตินี้ และ “แผนยุทธศาสตร์ควบคุมยาสูบแห่งชาติพ.ศ. 2555-2557” ให้เป็นรูปธรรมในพื้นที่ และ10.ให้ คบยช.เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับภาคีเครือข่ายระดับจังหวัดอำเภอตำบลหมู่บ้านและชุมชนสร้างแรงจูงใจในการดำเนินการและติดตามผลการดำเนินงานตามมตินี้
 
                ทั้งนี้ 10 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและต้องดำเนินการตามมติดังกล่าว ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
 
************************************ 1มิถุนายน 2555
 


   
   


View 9    01/06/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ