รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กำชับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข อสม.ทั่วประเทศ เฝ้าระวังโรคฉี่หนู และให้ความรู้ประชาชนเพื่อป้องกันโรค รอบ 6 เดือนปีนี้ มีรายงานป่วย 1,076 ราย ใน 64 จังหวัด เสียชีวิต 22 ราย ย้ำเตือนประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกร หากมีไข้สูงทันทีทันใด ปวดเมื่อยตามตัว ขอให้นึกถึงโรคฉี่หนู รีบพบแพทย์รักษา กินยาลดไข้แก้ปวดไม่หาย อาจทำให้อาการรุนแรงขึ้น
วันนี้ (30 มิถุนายน 2555) นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมราชการและมอบนโยบายแก่ แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรืออสม.ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี อำนาจเจริญ และยโสธร ว่า ในช่วงฤดูฝน โรคที่น่าห่วงในช่วงนี้คือ โรคฉี่หนูหรือโรคเลปโตสไปโรซีส (Leptospirosis) โดยเฉพาะเกษตรกรที่มีอาชีพทำไร่ทำนา จะมีความเสี่ยงสัมผัสเชื้อโรคสูงกว่าฤดูอื่น เนื่องจากมีแหล่งน้ำขังจำนวนมากเชื้อโรคจะอยู่ในฉี่ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น หนู วัวควาย พบมากที่สุดในฉี่ของหนูทุกชนิด เชื้อจะปนเปื้อนอยู่ตามแอ่งน้ำขังต่างๆดินโคลนที่เฉอะแฉะ และเข้าสู่ร่างกายคนเราได้ 2 ทางคือจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ และเชื้อไชเข้าทางแผล เยื่อบุในปากหรือตา หรือเข้าทางรอยผิวหนังถลอกรวมทั้งผิวหนังปกติที่แช่น้ำนานๆ หลังติดเชื้อประมาณ 7-10วัน จะเริ่มมีอาการคือมีไข้สูงทันทีทันใด ปวดศีรษะปวดตามกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะที่น่องขาทั้ง 2 ข้าง
สถานการณ์โรค สำนักระบาดวิทยารายงานตลอดปี 2554 พบผู้ป่วย 4,261 รายใน 71 จังหวัด เสียชีวิต 70 ราย ส่วนในปี 2555 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2555 ถึง 24 มิถุนายน 2555 พบผู้ป่วยแล้ว 1,076 ราย ใน 64 จังหวัด เสียชีวิต 22 ราย โดยพบผู้ป่วยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากอันดับ 1 จำนวน 610 ราย หรือร้อยละ 56 จังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุดได้แก่สุรินทร์ 99 ราย รองลงมาคือศรีสะเกษ 80 ราย และบุรีรัมย์ 72 ราย รองลงมาคือภาคใต้ 318 ราย พบมากทีสุดที่จังหวัดระนอง 53 ราย ผู้ป่วยร้อยละ 57 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม รองลงมาคือ รับจ้างร้อยละ 20 และนักเรียนร้อยละ 10 กำชับให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและ อสม.ทั่วประเทศ เฝ้าระวังโรคอย่างใกล้ชิดในช่วงฤดูฝนต่อเนื่องจนถึงต้นฤดูหนาวและเร่งให้ความรู้วิธีการป้องกันตัวแก่ประชาชน เพื่อลดการป่วยและการเสียชีวิต นายแพทย์สุรวิทย์ กล่าว
นายแพทย์สุรวิทย์ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้โรงพยาบาลทุกแห่งมียาปฏิชีวนะรักษาหายขาด โดยสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประชาชนเสียชีวิตจากโรคนี้ พบว่าหลังมีอาการป่วย มักเข้าใจว่าป่วยเพราะทำงานหนัก เนื่องจากมีอาการปวดเมื่อยด้วย จึงซื้อยาแก้ปวดลดไข้กินเองหรือนวดคลายเมื่อย ทำให้อาการรุนแรงขึ้น เนื่องจากยาลดไข้แม้ว่าจะทำให้ไข้ลดก็ตาม แต่ไม่ได้ฆ่าเชื้อโรคเชื้อโรคยังอยู่ในร่างกาย จึงมีโอกาสเสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อนได้ เช่นปอดบวม ไตวาย หัวใจล้มเหลว ไขสันหลังอักเสบ และโรคนี้สามารถป่วยซ้ำได้อีก หากติดเชื้อรอบใหม่
อย่างไรก็ดี โรคฉี่หนูขณะนี้ทั่วโลกยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่สามารถป้องกันได้ โดยหากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ ย่ำโคลน ต้องใส่รองเท้าบู๊ทและให้รีบชำระล้างทำความสะอาดร่างกายหลังขึ้นจากน้ำ กำจัดขยะ โดยเฉพาะขยะเปียกในบ้านเช่น เศษอาหาร ไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนู เก็บอาหารที่ค้างคืนในที่มิดชิดล้างผักสดที่เก็บจากท้องไร่ท้องนาให้สะอาดก่อนรับประทาน หากมีอาการป่วย คือมีไข้สูงอย่างทันทีทันใดปวดเมื่อยตามร่างกายมาก โดยเฉพาะที่บริเวณน่องขา ขอให้สงสัยว่าอาจป่วยเป็นโรคฉี่หนู ขอให้ไปพบแพทย์ และแจ้งประวัติการลุยน้ำย่ำโคลนให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อให้การรักษาอย่างถูกต้อง จะไม่เสียชีวิต
******************************** 30 มิถุนายน 2555